
สสส.ไฟเขียวรื้อระเบียบ26ฉบับ
18 ธ.ค. 2558
บอร์ด สสส.ไฟเขียว รื้อระเบียบ 26 ฉบับ กรรมการต้องไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ให้เวลา 90 วันลาออกจากองค์กรอื่น
18 ธ.ค. 58 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สสส. ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองของ สสส. ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ได้พิจารณาและเสนอให้ปรับแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ สสส. จำนวน 26 ฉบับนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว และเห็นชอบให้ปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ ทั้ง 26 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 และเพื่อให้การบริหารจัดการ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดขอบเขตงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินเพื่อการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม เป็นต้น โดยเชื่อว่าการปรับแก้ระเบียบจะให้เวลาไม่นานที่จะสามารถลงนามปรับแก้ได้ทันที
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า กรณีการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการฯ ให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2553 และจรรยาบรรณคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดไม่ให้คณะกรรมการฯ ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กรรมการบริหารแผนฯ กรรมการประเมินผลฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เสนอขอรับทุน อาทิ เป็นกรรมการ ผู้บริหารองค์กรที่รับทุนจาก สสส. ยกเว้นเป็นองค์กรภาครัฐ เช่น มีตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เป็นต้น โดยบอร์ด มีข้อสรุปว่า ให้เวลาคณะกรรมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบภายใน 90 วัน หลังจากมีการแก้ระเบียบแล้วเสร็จ
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ภายหลังจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณนั้น จะมีการลงนามรายงานผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวให้ คตร. ได้รับทราบ เพื่อขอความเห็นใจให้ยกเลิกการชะลอการใช้จ่ายงบฯ ของ สสส. โดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีภาคีได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าหลายโครงการที่เป็นองค์กรรับทุนจาก สสส. ซึ่งมีการทำสัญญาต่อเนื่องมีภาคีและผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 4,600 คน เมื่อไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ก็ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรในองค์กรผู้รับทุนได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีการสำรองจ่ายไปก่อน แต่หากยืดเวลาการเบิกจ่ายออกไปอีกก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้น ซึ่งจะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันหรือหาแนวทางเยียวยาต่อไป
"สำหรับการอนุมัติโครงการในอนาคตนั้น ในการแก้ระเบียบที่จะมีการปรับแก้ได้มีการระบุถึงการจำกัดลักษณะของโครงการเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของคำว่าสุขภาพ เพื่อไม่ให้มีการครอบคลุมคำว่าสุขภาพอย่างไม่มีข้อจำกัดเหมือนที่ผ่านมา ส่วนโครงการที่ดำเนินการมาต่อเนื่องก็ยังต้องดำเนินการต่อไป