ไลฟ์สไตล์

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาเซียน กับศักยภาพในการแข่งขันของไทย

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาเซียน กับศักยภาพในการแข่งขันของไทย

18 ธ.ค. 2558

ทำกินถิ่นอาเซียน : การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาเซียน กับศักยภาพในการแข่งขันของไทย : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                      ในภูมิภาคอาเซียนผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมากคิดเป็นร้อยละ 47.67 ของผลผลิตจากภาคประมงโดยรวม (ทั้งที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติและที่เพาะเลี้ยง) ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีส่วนแบ่งจากผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสูงกว่าเกณฑ์นี้ ได้แก่ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์
 
                      สำหรับประเทศไทยผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยมีส่วนแบ่งในผลผลิตรวมจากภาคการประมงอยู่ร้อยละ 35.12 แม้ว่าผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนผลผลิตจากการทำประมงที่ลดลง
 
                      นับจากปี 2559 เป็นต้นไป ตลาดสินค้าสัตว์น้ำและการลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีการเปิดเสรี ซึ่งจะทำให้กำแพงภาษีจากการเคลื่อนย้ายสินค้าสัตว์น้ำในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนหมดไป แต่หากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยมีต้นทุนที่สูง มีผลผลิตต่ำ และผลผลิตไม่ได้คุณภาพก็จะทำให้สินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงของไทยไม่อาจแข่งขันได้กับสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า และอาจจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยตามมา
 
                      ในด้านการเปิดเสรีในการลงทุนก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศไทยไปลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีศักยภาพเหนือกว่ากัน
 
                      อย่างไรก็ตาม การที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยส่วนมากหรือกว่าร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรรายย่อยและมีพื้นที่ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อีกทั้งเกษตรกรอยู่กระจัดกระจาย นับได้ว่าเป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทยอย่างมาก
 
                      จากการศึกษาของ เรืองไร โตกฤษณะ พบว่า การเพาะเลี้ยงในน้ำกร่อยโดยเฉพาะกุ้งขาวในอาเซียน ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในการเพาะเลี้ยงหากเทียบกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการผลิตสินค้ากุ้งส่วนมากเป็นเกษตรกรรายใหญ่ มีความรู้ และมีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบจากหน่วยการผลิตต้นน้ำจนถึงผู้ประกอบการส่งออกและสามารถผลิตสินค้ากุ้งข้าวได้ในต้นทุนที่ต่ำ
 
                      ส่วนการเพาะเลี้ยงในน้ำจืด โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงปลาสวายเพื่อการส่งออก ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้กับเวียดนาม เพราะเวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ปลาสวายและรวมถึงคุณภาพของเนื้อจนเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
 
                      ดังนั้น การที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยจะฉกฉวยโอกาสของการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เกษตรกรไทยจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความพร้อมให้แก่ตนเองทั้งในด้านความรู้ การมีศักยภาพในการแข่งขัน และการผลิตสินค้าที่มีความจำเพาะได้คุณภาพ
 
                      นอกจากนี้ ในภาครัฐเองก็จำต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหนือกว่าคู่แข่งขันในอาเซียน โดยการสนับสนุนลงทุนวิจัยและพัฒนาให้เกิดความได้เปรียบในด้านคุณภาพและต้นทุน รวมถึงการสนับสนุนวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้ภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยมีความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงในอาชีพได้อย่างยั่งยืน
 
 
 
-----------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาเซียน กับศักยภาพในการแข่งขันของไทย : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)