
เส้นสายลายสี70ปีแห่งชีวิตชูศักดิ์
17 ธ.ค. 2558
ศิลปวัฒนธรรม : เส้นสายลายสี 70 ปี แห่งชีวิต ชูศักดิ์
เพราะใจรักในงานศิลปะของทีมผู้บริหาร บริษัท สยามสินธร จำกัด นำโดย ชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการบริหาร และ ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหาร เป็นทุนเดิมผนวกกับแนวนโยบายส่วนหนึ่งของบริษัทในการสนับสนุนวงการศิลปะในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อได้ทราบว่าจิตรกรฝีมือชั้นครูจากถิ่นอีสาน อ.ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ มีความคิดริเริ่มอยากจัดแสดงผลงานเดี่ยว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานนิทรรศการ “เส้นสายลายสี 70 ปี แห่งชีวิต ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ” ขึ้น โดยการนำเอาผลงานย้อนหลังตั้งแต่เริ่มเขียนรูปจวบจนปัจจุบันนานกว่า 50 ปี รวมกว่า 200 ชิ้น และผลงานภาพร่างต้นฉบับย้อนหลังอีกกว่า 180 รูปมาจัดแสดง เพื่อหวังปลุกวิญญาณของคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยตัดริบบิ้นเปิดให้ชมผลงานท่ามกลางเพื่อนพ้องในแวดวงเส้นสายลายสีและแฟนคลับที่ไปร่วมแสดงความยินดีมากหน้าหลายตา อาทิ พิจิตต รัตตกุล, อ.ช่วง มูลพินิจ, วิกรม กรมดิษฐ์, นิรุตติ์ ศิริจรรยา ฯลฯ ที่บริเวณลานชั้นจี อาคารสินธร ถนนวิทยุ เมื่อค่ำวันก่อน
ในฐานะโต้โผใหญ่จัดงาน ชลาลักษณ์ บุนนาค กล่าวถึงเจ้าของผลงานในครั้งนี้ว่า อ.ชูศักดิ์เป็นอีกหนึ่งจิตรกรที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างแรงกล้า รวมถึงภาพวาดสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ล้วนถ่ายทอดให้เห็นถึงแรงศรัทธาอย่างแรงกล้า และมีความทุ่มเทในการทำงานศิลปะมาทั้งชีวิต อีกทั้งยังมีความสามารถในการใช้ลายเส้นหลากสไตล์ไม่ว่าจะเป็นแนวอิมเพรสชั่นนิสม์, พอร์ตเทรต หรือดรออิ้ง อีกทั้งยังเชี่ยวชาญทั้งการใช้สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีน้ำมัน และสีอะครีลิคกอีกด้วย การแสดงนิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งที่สอง ซึ่งสำหรับชีวิตการเป็นศิลปินอาชีพ การแสดงผลงานเดี่ยวสักครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน นิทรรศการครั้งนี้จึงหาชมได้ยากยิ่ง
ทางด้านเจ้าของผลงาน อ.ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการครั้งที่ 2 ในชีวิตตัวเองว่า เกิดขึ้นจากการที่ได้เขียนภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดความสูง 8 เมตร ให้อาคารสินธร หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ชลาลักษณ์ ก็ให้แนวคิดว่า ผลงานรูปที่เขียนไว้แล้วยังขายไม่ได้น่าจะรวบรวมเอามาแสดงที่นี่สักครั้ง ซึ่งตรงกับความฝันของตัวเอง แต่ลำพังถ้าจะทำเองคงไม่มีทางจะทำได้ขนาดนี้ ด้วยมิตรภาพจึงสนับสนุนให้นำผลงานออกมาสู่สายตาประชาชน สำหรับนิทรรศการครั้งนี้เปรียบเสมือนบันทึกการทำงานของคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงการทุ่มเทของศิลปินที่ยังคงยืนหยัดในแนวทางที่มีสไตล์เฉพาะตัว นับตั้งแต่เริ่มต้นวาดภาพจนถึงปัจจุบันก็ยังคงทำงานนี้มานานกว่า 50 ปี ขณะเดียวกันก็ยังต้องการให้ผู้ที่ศึกษาศิลปะได้เห็นการพัฒนาของงานศิลป์ว่า กว่าจะเป็นผลงานที่งดงามสมบูรณ์ในแต่ละชิ้น มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร และนี่จึงเป็นที่มาของการจัดแสดงผลงานภาพร่างต้นฉบับย้อนหลังอีกกว่า 180 รูป ในอีกภาคส่วนหนึ่ง โดยการจัดแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ ศาสนา ความจริงอันยิ่งใหญ่, พระมหากษัตริย์, อาชาบารมี, อีสานบ้านนอก และบางกอกแห่งความหลัง
"ผลงาน ศาสนา ความจริงอันยิ่งใหญ่ นี้ผมได้แรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งที่มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อไปดูสังเวชนียสถานต่างๆ ทำให้ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า พระพุทธเจ้าคือบุคคลในประวัติศาสตร์โลก จึงบันทึกสิ่งที่หลงเหลือของพุทธศาสนาจากกาลเวลากว่าสองพันปีลงบนผืนผ้าใบเพื่อยืนยันความมีจริงอยู่ของ “พระพุทธเจ้า” เพราะนั่นคือ ความจริงอันยิ่งใหญ่, พระมหากษัตริย์ หัวข้อนี้เกิดจากความรักความศรัทธาและความภักดีที่มีต่อพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงเสียสละพระวรกายในปกป้องประเทศชาติแผ่นดินให้คงอยู่สืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดารทุกแห่งในประเทศไทยเพื่อทรงช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น, อาชาบารมี เหตุที่ชอบวาดรูปม้าเพราะเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตริย์นักรบทุกพระองค์ ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาม้าพาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช และม้าอีกเช่นกันที่พาพระถังซำจั๋งเดินทางจากประเทศจีนไปสู่อินเดียผ่านเทือกเขาโกบีที่ได้ชื่อว่าแสนกันดารที่สุดเพื่อนำพระไตรปิฎกกลับสู่ประเทศจีน ในมุมของตัวเองม้าจึงจัดได้ว่าเป็นม้ามงคล, อีสานบ้านนอก ในฐานะที่ตัวเองคือลูกอีสานคนหนึ่งจึงอยากเก็บความทรงจำในวันวานไว้ให้คนรุ่นเดียวกันได้กลิ่นไอของความหลังและให้ลูกหลานได้รับรู้ และ บางกอกแห่งความหลัง เพราะกาลเวลาที่เหลือไว้แต่ความทรงจำ บางกอกในวันที่ผมลาทุ่งมุ่งสู่บางกอกด้วยความหวังชีิวิตเหมือนถูกกำหนดไว้ วันนี้ได้เป็นนักวาดรูปเพราะชีวิตถูกกำหนด" จิตรกรในวัย 70 ปี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานของตัวเอง
เกี่ยวกับ อ.ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ พื้นเพเป็นชาวอุดรธานีแต่ด้วยใจรักในงานศิลปะ จึงตัดสินใจมาแสวงหาความฝันในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ชีวิตการเป็นศิลปิน อ.ชูศักดิ์ไม่ได้เรียนจบสถาบันหลักทางศิลปะเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ขวนขวายด้วยตัวเองทั้งสิ้น หลังผ่านความยากลำบากมาต่างๆ นานา จนสร้างตัวประสบความสำเร็จในชีวิตจากวงการโฆษณา เมื่อถึงจุดอิ่มตัวจึงตัดสินใจหันมาทำงานศิลปะอย่างเดียวด้วยความแน่วแน่ สำหรับนิทรรศการ “เส้นสายลายสี 70 ปี แห่งชีวิต ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ” เปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันที่ 14-25 ธันวาคม ที่บริเวณชั้นจี อาคารสินธร ถนนวิทยุ