ไลฟ์สไตล์

ขยายผล 'ช่อนแม่ลา' สู่เกษตรกร

ขยายผล 'ช่อนแม่ลา' สู่เกษตรกร

15 ธ.ค. 2558

ทำมาหากิน : อีกก้าวสำนักวิจัยสัตว์น้ำจืดบางไทร ขยายผล 'ช่อนแม่ลา' สู่เกษตรกร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                      แม้ปลาช่อนแม่ลาได้หายไปจากลำน้่ำแม่ลาสายน้ำธรรมชาติของจ.สิงห์บุรี มาเกือบ 50 ปีแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย แต่สายพันธุ์ดังกล่าวยังไม่หายไปจากประเทศไทยเมื่อ วินัย จั่นทับทิม  กูรูปลาช่อน เมื่อครั้งรั้งตำแหน่งหัวหน้าสถานีประมงน้ำจืด จ.สิงห์บุรี เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนได้ตระเวนซื้อปลาช่อนจากชาวบ้านมาศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ปลาช่อนแม่ลา ด้วยการฉีดฮอร์โมนจนประสบความสำเร็จ กระทั่่งย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดบางไทร กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมงในปัจจุบัน ก็นำปลาช่อนแม่ลามาขยายผลจนสามารถกลายเป็นศูนย์กลางเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลาช่อนแม่ลาของประเทศไทยในทุกวันนี้ 
 
                      “ปลาช่อนที่จับจากลำน้ำแม่ลามีรสชาติอร่อยกว่าปลาช่อนจากแหล่งน้ำอื่น ความเชื่อนี้ไม่ใช่เป็นเพียงตำนานเล่าขาน แต่เป็นความจริงที่ได้พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วโดยกรมประมงเมื่อปี 2522 เมื่อนักวิชาการนำปลาช่อนจากลำน้ำแม่ลามาวิจัยด้านโภชนาการและทดสอบทางรสชาติ พบว่าปลาช่อนแม่ลามีไขมันในกล้ามเนื้อมากกว่าปลาช่อนจากแหล่งน้ำอื่น”
 
                      วินัยย้อนที่มาของปลาช่อนด้วยสภาพพื้นที่สองฝั่งลำน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูน้ำหลาก แร่ธาตุต่างๆ บนพื้นดินซึ่งมีทั้งซากพืชและมูลสัตว์ถูกชะล้างลงสู่ลน้ำแม่ลาพื้นท้องน้ำจึงเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะหอยต่างๆ มีมาก ลูกสัตว์น้ำเหล่านี้จึงเป็นอาหารของปลาช่อน อย่างไรก็ตามการวิจัยยังพบว่าคุณค่าทางโภชนาการด้านโปรตีนระหว่างปลาช่อนแม่ลาและปลาช่อนจากแหล่งน้ำอื่นเท่ากัน แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมและการเติบใหญ่ของสังคมทำให้ปลาช่อนในลำน้ำแม่ลาลดปริมาณลงมากจนหายไปในที่สุด
 
                      “ลักษณะเด่นของปลาช่อนแม่ลา ลำตัวจะอ้วน หัวเล็กกว่าลำตัว มีสีเทาขาว คล้ายสีขุ่นของน้ำ หางมนคล้ายตาลปัตร ที่โคนครีบหูมีสีส้มปนแดง เมื่อผ่าท้องภายในช่องท้องจะมีสีมันวาวกว่าปลาจากแหล่งอื่นๆ มีไขมันในเนื้อปลาเป็นสองเท่าของปลาจากแหล่งอื่นๆ” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดบางไทรเผยจุดเด่น พร้อมย้ำถึงการขยายผลปลาช่อนแม่ลาไปสู่เกษตรกรว่าที่ผ่านมามีการร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (สวก.) องค์การมหาชนในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อการเพาะพันธุ์ โดยจัดอบรมให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ได้ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์
 
                      “การเพาะพันธุ์ทำแบบง่ายๆ ใช้ถังน้ำพลาสติกขนาดสูงประมาณ 24 นิ้ว ปากถังกว้างประมาณ 1.5 ฟุตเพื่อให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนสามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ โดยไม่ต้องลงทุนใช้บ่อซีเมนต์หรือถังน้ำขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน ขณะนี้สถานีสามารถเพาะพันธุ์ปลาช่อนให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงได้ตลอดปี”
 
                      วินัยอธิบายถึงขั้นตอนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดิน โดยระบุว่าเริ่มจากตากบ่อให้แห้งใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน อัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อในระดับความลึก 30-40 เมตร ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน จึงปล่อยขนาดปลาช่อนขนาด 10 ตัวต่อกิโลกรัมลงไปให้อาหารปลาเป็ดผสมรำในอัตรา 4:1 วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยใต้ผิวน้ำ หลังจากเลี้ยงไว้ประมาณ 12 เดือน ปลาเริ่มมีความพร้อมในการผสมพันธุ์ จึงรวบรวมมาพักไว้ในบ่อซีเมนต์เพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป สำหรับการเพาะพันธุ์นั้นให้ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยฉีดแม่ปลาครั้งเดียวในอัตรา 20-30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมและยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พ่อปลาฉีดอัตรา 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หลังจากฉีดปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองในถังพลาสติก  เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัว การอนุบาลลูกปลาช่อนถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอาหารเพื่ิอให้ลูกปลายอมรับอาหารสำเร็จรูปได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีอัตราการรอดตายสูง สุขภาพแข็งแรงเหมาะสำหรับนำไปเลี้ยงต่อไป 
 
                      ปลาช่อนแม่ลานับเป็นปลาอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบันและเหมาะยึดเป็นอาชีพในช่วงหน้าแล้ง สำหรับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดบางไทร ต.โพแตง อ.บางไทร จ.พระนครศีอยุธยา โทร.0-3570-4171 ในวันและเวลาราชการ
 
 
 
----------------------
 
(ทำมาหากิน : อีกก้าวสำนักวิจัยสัตว์น้ำจืดบางไทร ขยายผล 'ช่อนแม่ลา' สู่เกษตรกร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)