
กรมวิทย์เฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน (1)
14 ธ.ค. 2558
กรมวิทย์เฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน (1) : คอลัมน์ ลุงแจ่มเตือนภัย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสารฟอร์มาลินปนเปื้อนในอาหารพบมีการปนเปื้อนน้อยลง พร้อมแนะผู้บริโภควิธีสังเกตและลดปริมาณสารตกค้างในอาหาร ส่วนผู้ประกอบการห้ามนำสารฟอร์มาลินมาใส่ในอาหาร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการนำสารฟอร์มาลินหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “น้ำยาดองศพ” มาใช้ในอาหารต่างๆ เช่น นำมาผสมหรือใช้ผลิตน้ำแข็งเพื่อทำให้น้ำแข็งละลายช้าลง นำมาฉีดเข้าไปในปลาและกุ้งเพื่อให้ไม่เน่าเสีย นำมาแช่ปลาหมึกทำให้ปลาหมึกกรอบและไม่เน่าเสียเป็นต้น จากข่าวการนำสารฟอร์มาลินมาใช้ในอาหารต่างๆ สร้างความตระหนก วิตกกังวลแก่ผู้บริโภคจนไม่กล้าซื้ออาหารดังกล่าวมารับประทานและไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารอีกด้วย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า สารฟอร์มาลิน หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นของเหลวไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ใช้สำหรับฆ่าเชื้อ ดับกลิ่น และใช้ fixative เนื้อเยื่อ ซึ่งสารฟอร์มาลดีไฮด์สามารถสลายได้ด้วยความร้อนในสภาพเป็นแก๊ส
โดยฟอร์มาลดีไฮด์พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งในบรรยากาศ ในซากสัตว์ที่ตาย (เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีน) และในผักที่มีกลิ่นต่างๆ ซึ่งจะมีฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยไอของสารละลายจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเนื้อเยื่อบุทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสโดนผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอักเสบ หากรับประทานจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) กำหนดให้สารฟอร์มาลินเป็นสารห้ามใช้ในอาหาร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์