
นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยขายได้
นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยขายได้ เตรียมวางมาตรฐาน เข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ
การวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล ชุมชน สังคม หรือแม้กระทั่งความมั่นคงของประเทศในองค์รวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รัฐบาลย้ำ สนับสนุนการต่อยอดงานวิจัยสู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมขายได้ วางระบบบัญชีนวัตกรรม และบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย พร้อมต่อยอด และวางมาตรฐานเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้าง 10-30% ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจูงใจนักวิจัย-นักประดิษฐ์ไทยให้สร้างผลงานเสริมขีดความสามารถประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงบประมาณ จัด การประชุมการขึ้นบัญชีนวัตกรรมและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นการวิจัย และพัฒนาสินค้าและบริการนวัตกรรมไทย และสิ่งประดิษฐ์ไทย สร้างมูลค่า เพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยอยู่ประมาณ 3.7 แสนชิ้น แต่ใช้ประโยชน์ได้จริงเพียง 40-45% ในจำนวนนี้มีนวัตกรรมไม่ถึง 5% ที่สร้างมูลค่า สร้างรายได้กลับมา ถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เพราะกว่าผลงานที่เกิดจากความรู้ และการสร้างสรรค์ของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยจะก้าวเข้าสู่การใช้ประโยชน์ทางการค้า ต้องประสบอุปสรรคมากมาย ทำให้ผลงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถขับเคลื่อนไปใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศได้จริง
“การจัดทำบัญชีนวัตกรรม และบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมไทย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ สามารถผลิตเข้าสู่เชิงพาณิชย์ และเป็นการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมให้มีมาตรฐานเทียบเคียงที่เชื่อถือได้”
การสำรวจและแบ่งผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย หรือคนไทยมีส่วนในผลงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ผลงานวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นที่พร้อมจะนำมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผ่านการรับรองมาตรฐานตามแต่ละประเภทของผลงานนั้นแล้ว เรียกว่า บัญชีนวัตกรรมไทย ส่วนที่สอง ผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นส่วนใหญ่ของประเทศไทย เป็นผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ใกล้จะพร้อมใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ยังขาดการรับรองมาตรฐานตามแต่ละประเภทของผลงานเหล่านั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในบัญชีที่เรียกว่า บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เมื่อใดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานก็สามารถย้ายเข้าไปสู่บัญชีนวัตกรรมไทยได้
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า รัฐบาลเห็นชอบการให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าและบริการที่มีอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยให้มีการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการตามรายการบัญชีนวัตกรรมของไทยผ่านวิธีพิเศษได้ พร้อมกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการ ตามรายการที่ปรากฏในบัญชีนวัตกรรมไทย ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ของปริมาณความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้าง จะทำให้ผลงานเหล่านี้ได้เปรียบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากต่างประเทศ
“ระบบบัญชีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยเหล่านี้ จะเพิ่มจำนวนงานวิจัยที่สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ จากเดิมที่มีไม่ถึง 5% เป็น 10% ภายในปี 2560 โดยกระบวนการต่างๆ รัฐบาลอนุมัติงบประมาณราว 200 ล้านบาท เริ่มนำร่องในปี 2559 สำหรับการเริ่มต้นรับลงทะเบียน และคัดแยกงานวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อผลักดันต่อ ซึ่งคณะทำงานจะรับลงทะเบียนนักวิจัย จากนั้นแยกงานวิจัยที่หมดสภาพออก ตรวจสอบงานวิจัยเชิงพลวัตหรืองานวิจัยที่ยังเคลื่อนไหวหรือมีศักยภาพเพื่อผลักดันต่อ ซึ่ง วช.จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแล และประเมินว่า ผลงานวิจัยเหล่านั้นมีความต้องการของตลาด และพร้อมที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์หรือไม่ หากมีความพร้อมทั้ง 2 ด้าน ก็จะมีงบประมาณสนับสนุนในด้านของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการทำตลาด เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไปสู่ตลาดได้จริง"
รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากจะเป็นการผลักดันงานวิจัยของภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้หันมาผลิตผลิตภัณฑ์และบริการจากนวัตกรรม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์และบริการดั้งเดิม อันจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากที่อาศัยแรงงานและทรัพยากรเข้มข้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกลุ่มรายได้ปานกลาง และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์มากที่สุดด้วย
“สิ่งที่ตามมาคือ นักวิจัยและนักประดิษฐ์จะรับรู้และเข้าใจข้อดีของการเข้าสู่ระบบ รวมถึงมีโอกาสนำผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มรายได้ให้แก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะจูงใจให้เกิดนักวิจัย และนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ๆ สร้างสรรค์ผลงานที่มีศักยภาพมากขึ้น ดังที่จะเห็นในงานวันนักประดิษฐ์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผลงานที่ปรากฏก็มีศักยภาพต่อยอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย”