
พลังชุมชนท้องถิ่น ร่วมใจรับมือภัยพิบัติ 'จัดการภัยสุขภาวะ'
13 ธ.ค. 2558
หลากมิติเวทีทัศน์ : พลังชุมชนท้องถิ่น ร่วมใจรับมือภัยพิบัติ 'จัดการภัยสุขภาวะ' : โดย...ปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท
“เมื่อก่อนเมืองไทยไม่มีภัยพิบัติมาก เพราะการอาศัยอยู่กับธรรมชาติ แต่ระยะหลังตั้งแต่สึนามิเป็นต้นมา ได้เกิดภัยพิบัติทั้งพายุ ดินถล่ม มาถึงมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 คิดว่าธรรมชาติเตือนเรา ไม่ให้เราหลงละเลิงแข่งขันกันเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เคยกล่าวเอาไว้
ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ แต่มีวิธีที่จะลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อย่างไม่ประมาท และมีสติ
ดังนั้น การสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการจัดการภัยพิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะจากบทเรียนทั่วโลก พบว่า “แผนจัดการภัยพิบัติระดับชาติมักล้มเหลว หากประชาชนไม่รู้ว่าตนเองต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อภัยมา"

บทเรียนการดำเนินงานโครงการเสริมพลังความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของเครือข่ายชุมชน โดยใช้บทเรียนการ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” สร้างการเรียนรู้ท่ามกลางการทำ “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ” ด้วยหลักการสนับสนุนให้ชุมชนเรียนรู้ท่ามกลางการ “ตั้งทีม” ลุกขึ้นมารวมกลุ่มแก้ปัญหาร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและภาคีความร่วมมือต่างๆ ที่เข้าไปสนับสนุน เปลี่ยนจาก ชุมชนประสบภัย มาเป็น ชุมชนป้องกันภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของชุมชนให้มีทีมอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ มีกระบวนการต่างๆ เช่น การฝึกอบรมอาสาสมัครภัยพิบัติ การมีแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ การซ้อมแผนอพยพ การฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน การดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยโครงการนี้ได้ขยายผลดำเนินงานออกไปใน 10 พื้นที่ซึ่งกระจายใน 10 จังหวัด
อย่างเช่น เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน นำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กทม. (บางขุนเทียน) สมุทรปราการ สมุทรสาคร จำนวน 11 ชุมชน และเชื่อมโยงการแก้ปัญหาภาพรวมร่วมกันของทั้งเครือข่าย เช่น ปัญหามลพิษจากการขนส่งถ่านหิน ปัญหาน้ำจืด น้ำเสียลงอ่าวไทยจำนวนมาก จนส่งผลกับการเพาะเลี้ยงชายฝั่งของชาวบ้าน การรุกล้ำเขตประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
จึงมีการร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งสัตว์น้ำและป่าชายเลน ซึ่งมีภาคีความร่วมมือหลายองค์กรสนับสนุน รวมทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับประเด็นเชิงนโยบาย มีการเข้าร่วมร่าง พ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการระดับจังหวัดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งติดตามนโยบายการจัดการน้ำ

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่มีคูคลองหลายสาย มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพราะมีการบำบัดน้ำเสียรายครัวเรือนที่คลองบางปรอกและขยายผลจนได้รับรางวัลจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ส่วนชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ทำให้ชุมชนเหล่านี้ มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะในปีที่น้ำท่วมสูง จะมีผลกระทบมาก จึงมีกระบวนการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยการตั้งศูนย์ประสานงาน มีทีมอาสมัคร มีการอบรมเยาวชนเรื่องการเฝ้าระวังระดับน้ำ มีการนำร่องเรื่องบ้านลอยน้ำ ในพื้นที่ อบต.กะแชง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เมื่อน้ำท่วมไม่ต้องอพยพไกล สามารถใช้ห้องน้ำ ประกอบอาหารร่วมกันได้ ฯลฯ
เครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเครือข่ายชุมชนแออัดในเมือง ส่วนหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำมูล มีจำนวน 9 ชุมชน ที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะมีการถมที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง แต่ชุมชนคนจนเหล่านี้ไม่ได้ถมที่ดินจึงต้องอยู่ในที่ลุ่มรับน้ำ มีการรับมือภัยพิบัติ ด้วยการสรุปบทเรียนน้ำท่วม และทำปฏิทินภัยพิบัติ พบว่าในแต่ละปีมีน้ำท่วม 2-4 เดือน อันเป็นเหตุความยากจน เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีรายได้ และเมื่อน้ำลดก็ต้องเสียค่าขนย้าย ค่าซ่อมแซมบ้าน จึงมีกระบวนการสู้ภัย ด้วยใจชุมชนขึ้น มีอาสาสมัคร มีการอบรม จัดทำแผนในการรับมือ และฟื้นฟูชุมชน มีศูนย์ประสานงาน ฯลฯ
มีการทำพื้นที่ต้นแบบร่วมกับ อบต.คูสว่าง โดยการทำบ้านอเนกประสงค์ ถอดประกอบได้ง่าย จำนวน 40 ห้อง เพื่อรองรับกลุ่มที่มีปัญหาน้ำท่วม ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ ได้ออกแบบเรือที่เหมาะสมกับแม่น้ำมูล ไม่ต้านคลื่น

เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงา จากบ้านน้ำเค็มเป็นพื้นที่ต้นแบบ ขยายผลสู่จังหวัดอื่นและเป็นที่ศึกษาดูงานนั้น ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการทำโครงการรัฐร่วมราษฎร์จัดการภัยพิบัติขยายผลออกสู่ตำบลต่างๆ อีก 8 ตำบล โดยคณะทำงานภัยพิบัติจังหวัดพังงา ได้ลงพื้นที่เพื่อประสาน กระตุ้นและสนับสนุนความรู้ทั้งการแนะนำจากประสบการณ์ตนเอง และการประสาน ปภ.จังหวัดไปอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัคร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ เพราะได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นในแต่ละตำบลเป็นอย่างมาก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ ร่วมกันได้ เช่น หากมีน้ำท่วม ตำบลใกล้เคียงจะไปช่วยเหลือกัน หรือการมีแผนดูแลป่าชายเลน เพื่อความมั่นคงทางอาหารและลดโลกร้อนร่วมกันทั้งจังหวัด เป็นต้น
นอกจากการสร้างพื้นที่รูปธรรม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่แล้ว ยังมีการสนับสนุนให้เกิดการประชุมสัมมนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะ จนนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายหลายประการ
1. การปฏิรูประบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยเสริมความรู้ความสามารถร่วมกันทุกภาคส่วนในการจัดการภัย เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติตรงไปที่ชุมชน

2. จัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนการจัดการภัยพิบัติ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อบรมพัฒนาเตรียมความพร้อมการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติชุมชน การสื่อสารสาธารณะ ตลอดจนให้มีกองทุนระดับท้องถิ่น ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนและเครือข่ายฯ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสมทบกองทุนการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น
3. ปฏิรูปกลไกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากผู้แทนชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ เพิ่มอำนาจหน้าที่ ให้เป็นกรรมการที่มีอำนาจสั่งการ บริหารจัดการในขณะเกิดภัยพิบัติ และให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ระดับตำบล เป็นผู้พิจารณาประกาศภัยพิบัติ พิจารณาจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติ พิจารณาให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยมีสัดส่วนจากผู้แทนชุมชน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ และจัดทำแผนเพื่อการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นชุมชนเป็นหลัก
4. ปฏิรูปกฎหมาย โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้เอื้อในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย โดยสาระสำคัญต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ ให้มีกองทุนส่งเสริมชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ การประกาศภัยพิบัติ และบริหารจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า การจัดการภัยพิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้ง 2 ระดับ คือ 1.การปรับปรุงนโยบายการจัดการภัยพิบัติ และการแก้กฎหมายให้สอดคล้อง 2.การแปรสู่ปฏิบัติ หรือสร้างรูปธรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในพื้นที่ การรณรงค์เปลี่ยนวิธีคิดของประชาชนจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้จัดการตนเอง” การใช้ข้อมูลความรู้เป็นพลังในการต่อสู้กับภัยพิบัติ การจัดองค์กรให้จัดการภัยพิบัติได้ การทำให้ตระหนักว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัว ความมีจิตอาสา ต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
--------------------
(หลากมิติเวทีทัศน์ : พลังชุมชนท้องถิ่น ร่วมใจรับมือภัยพิบัติ 'จัดการภัยสุขภาวะ' : โดย...ปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท)