
สานฝันภารกิจต่อชีวิตจากพ่อสู่ลูก
08 ธ.ค. 2558
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เมล็ดพันธุ์ที่งอกงามจากพ่อสู่ลูก กับภารกิจต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเป็นสุภาษิตโบราณที่ใช้เปรียบเปรยลักษณะนิสัยและการกระทำของลูกที่เหมือนกับพ่อแม่ โดยเฉพาะกับครอบครัว “ธวัชชัย สินธุมงคลชัย” พ่อ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินมาเป็นเวลานาน ในตำแหน่งอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู และภารกิจในการช่วยเหลือชีวิตผู้คนนี้ ทำให้ลูกๆ ของเขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ และทำให้ลูกของเขาเป็นลูกไม้ที่หล่นและเติบโตอย่างงดงามภายใต้ต้นไม้ที่เขาได้หว่านเมล็ดพันธุ์ไว้
"ผมก็ทำได้ประมาณ 6 ปีแล้วนะครับ ตอนที่ทำ ผมไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแค่ว่าจะช่วยคนเจ็บให้รอดชีวิตได้มากที่สุดอย่างไรเท่านั้นเอง" ธวัชชัย สินธุมงคลชัย เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู อายุ 43 ปี บอกเล่าความรู้สึกกับการทำงานอาสากู้ชีพให้กับเราฟัง ธวัชชัย บอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะเข้ามาทำหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูนั้น เขาและครอบครัวมีอาชีพค้าขาย โดยตั้งแผงขายส้มโออยู่บริเวณริมถนนบรมราชชนนี สิ่งที่เขาและครอบครัวต้องพบเจอบ่อยครั้ง คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนใช้รถใช้ถนนเส้นนี้ แล้วเขาไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรคนเหล่านั้นได้เลย จึงทำให้เป็นที่มาของการขอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู เพื่อคอยช่วยเหลือผู้คนที่ประสบอุบัติเหตุ

"พอเราเห็นคนจะตายตรงหน้าเรา แล้วเราช่วยไม่ได้ มันเจ็บปวดนะครับ ผมเลยคิดว่าเราจะดูเฉยๆ แบบนี้ไม่ได้ เพราะเวลาเกิดเหตุแต่ละครั้งพอโทรตามตำรวจ ก็จะมาช้ามาก วันนั้นโชคดีพี่ไทด์ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ เขามาซื้อของที่ร้านผมแล้วผมรู้ว่าเขาเป็นอาสาสมัครอยู่ที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ผมเลยขอเป็นอาสาสมัคร จนได้มาช่วยคนถึงทุกวันนี้" ธวัชชัย บอกเล่าถึงที่มาที่ไปในการทำงานของเขาเพิ่มเติมให้ฟัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ธวัชชัยโดดเด่นกว่าอาสาสมัครคนอื่นๆ คือ บทบาทของ “พ่อ” ที่ได้กลายเป็นต้นแบบให้ลูก โดยทุกๆ วันที่ออกปฏิบัติงานอาสากู้ชีพ จะมีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ตามธวัชชัย เพื่อไปช่วยงานในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุด้วยทุกครั้ง ธวัชชัยบอกเล่าถึงลูกๆ ของเขาให้เราฟังว่า
"ผมมีลูกสองคน เป็นผู้หญิงทั้งสองคน คือ น้องหยกกับน้องมุก ครั้งแรกที่ผมออกไปช่วยคนเจ็บ ลูกๆ เขาก็อยากจะไปกับผมด้วย ผมก็เลยให้ไปด้วยกัน ให้เขาได้เห็นว่าเราทำอะไร พอลูกเราเห็นเราทำทุกๆ วัน เขาก็ไม่กลัว โดยเฉพาะน้องมุก เขาชอบในการที่ได้ช่วยเหลือคนมาก ผมก็ดีใจที่เขาชอบทำอะไรแบบนี้ ผมไม่ได้บังคับลูกนะครับ แต่เขาชอบที่จะมาช่วยพ่อ ชอบที่จะมาช่วยผู้คนที่ประสบเหตุ ไม่ว่าจะเหตุเล็กเหตุใหญ่เราพ่อลูกก็ช่วยกันตลอด น้องมุกเขาเลิกเรียนเขาก็จะมาช่วยพ่อตลอด" ธวัชชัยกล่าวพร้อมร้อยยิ้ม
ทุกๆ วัน เมื่อมีเวลาว่าง ธวัชชัยและลูกสาวจะออกไปช่วยคนเจ็บเมื่อได้รับการแจ้งเหตุ สองพ่อลูกทำหน้าที่ช่วยเหลือคนทุกวันจนเป็นที่ชินตาของผู้คนในบริเวณนั้น ธวัชชัยใช้การกระทำในการสอนลูก ให้ลูกได้เห็นเองว่าการให้จากการช่วยเหลือนั้นทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความสุขเพียงใด

"มีอยู่เคสหนึ่งน้องมุกเขามาช่วยผม เป็นอุบัติเหตุรถคว่ำ คนที่เราเข้าให้การช่วยเหลือมีกระดูกขาผิดรูป เราก็ช่วยกันเคลื่อนย้ายเขาด้วยความระมัดระวัง ตลอดการส่งต่อผู้ป่วยน้องมุกกับผมก็จับมือผู้ป่วยตลอดเวลา และคอยพูดให้กำลังใจเขา เราคิดว่าเขาไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลมีคนโทรมาบอกเราว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เพราะกระดูกซี่โครงหักทิ่มปอดเขา เราก็เสียใจ ลูกก็เสียใจร้องไห้ เราก็บอกลูกว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว เราช่วยเหลือเขาได้เต็มที่ที่เราจะช่วยได้แล้ว น้องมุกก็พยักหน้าแบบเข้าใจ ผมและลูกก็จะได้เรียนรู้การมองโลก การใช้ชีวิตทุกวันที่ออกปฏิบัติงาน"
ปัจจุบันน้องมุก หรือ กมลชนก สินธุมงคลชัย ลูกสาวของธวัชชัย มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และสานฝันของตนเองกับพ่อด้วยการสอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ได้สำเร็จ น้องมุกบอกเล่าถึงพ่อของเขาให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจว่า “หนูภูมิใจในพ่อหนูมากเลยค่ะ พ่อเป็นทุกๆ อย่างของหนู เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งพ่อ พ่อไม่เคยบังคับให้เราทำอะไร ให้เราทำในสิ่งที่เราชอบและให้เราเป็นในสิ่งที่เราเป็น ทุกการเติบโตของหนูก็มีพ่อนี่แหละค่ะที่เป็นฮีโร่และเป็นต้นแบบให้กับหนู เวลาหนูออกไปช่วยคนเจ็บกับพ่อ หนูก็จะช่วยได้แค่ปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเท่านั้น หนูอยากช่วยให้ได้มากกว่านี้ อยากให้เขารอดชีวิตได้มากกว่า อยากสานต่องานที่หนูและพ่อได้ช่วยกันทำมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กให้เป็นรูปธรรมให้มากขึ้นให้ได้ การเลือกเรียนคณะนี้ของหนูนอกจากจะเป็นความต้องการในการช่วยเหลือผู้คนแล้ว ยังเป็นการเลือกเพื่ออยู่เคียงข้างและทำงานกับคุณพ่อซึ่งเป็นฮีโร่ของหนูไปตลอดชีวิตด้วยค่ะ” น้องมุกเล่าถึงความภูมิใจเกี่ยวกับพ่อให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า “ครอบครัวของคุณธวัชชัยเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นถึงพลังแห่งการทำความดี และพลังแห่งการเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อให้กับลูก ซึ่งในระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 นั้น มีหลายครอบครัวเป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้ระบบการช่วยเหลือผู้คนที่บาดเจ็บ หรือป่วยฉุกเฉิน ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฉ.ก็ได้จัดหาความคุ้มครองบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินเหล่านี้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้ปลอดจากการเสี่ยงอันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่ อาทิ โครงการอบรมพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือโครงการจัดทำประกันชีวิต
ปัจจุบันธวัชชัยยังคงออกช่วยเหลือคนเจ็บทุกวัน และเมื่อลูกสาวว่างเว้นจากการเรียน ก็จะรีบออกไปช่วยพ่อทำงานทุกครั้ง ทั้งคู่บอกว่าจะทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะไม่หยุดพัก จะทำงานจนกว่าจะหมดแรง ธวัชชัยบอกว่า เขาเชื่อในความดีที่เขาและลูกๆ ตั้งใจทำในการช่วยเหลือคน เขาบอกว่า ครอบครัวของเขาอาจไม่ได้ดีไปกว่าครอบครัวไหนๆ แต่การที่ได้ทำ “ความดี” ต่างหาก ที่ทำให้เขาและลูกได้เห็นคุณค่าของตนเองจากการที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์