ไลฟ์สไตล์

สัญญาณเตือนภัย หัวใจขาดเลือด

สัญญาณเตือนภัย หัวใจขาดเลือด

08 ธ.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : สัญญาณเตือนภัย หัวใจขาดเลือด

 
       ย่อมเป็นเรื่องที่ทราบกันดีโดยทั่วไปแล้วว่าโรคหัวใจขาดเลือด หรืออีกนัยหนึ่ง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่สร้างความจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษา จนเป็นปัญหาระดับชาติ โดยมีผลต่อการสิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาอย่างสูง จึงต้องศึกษา รับรู้ และปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพราะโรคนี้มีผลจากการใช้ชีวิตประจำวัน (Life style) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ สัญญาณเหล่านั้น ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ แล้ว ดังนี้
 
 
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- มีภาวะไขมันในเลือดที่ผิดปกติ
- โรคอ้วน
- โรคสมองขาดเลือด รวมทั้ง
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกายประจำ
- ผู้ที่อายุมากขึ้น ก็เป็นสัญญาณเตือนอีกเช่นกัน
- ผู้ที่มีกรรมพันธุ์ในครอบครัว โดยมีพี่น้องสายตรง หรือคุณพ่อคุณแม่ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อน
 
       กลุ่มบุคคลที่มีสัญญาณเตือนเหล่านี้มากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป ควรไปตรวจโรคหัวใจขาดเลือด ด้วยวิธีการต่างๆ ตามวิธีการทางการแพทย์ทุก 6-12 เดือน
 
       สัญญาณเตือนฉุกเฉินที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความชัดเจนในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลันแล้ว ได้แก่อาการต่างๆ ดังนี้
 
 
- เจ็บจุกแน่นหน้าอก ที่มีอาการเจ็บแบบกดทับ บีบรัดที่กลางอก อาจมีอาการร้าวไปที่ไหล่ซ้าย กรามด้านซ้าย และบางรายอาจร้าวไปถึงข้อศอกซ้าย บางรายอาจจุกแน่นที่เหนือลิ้นปี่ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร อาการจุกแน่นจะเริ่มแต่น้อย และเพิ่มขึ้น จนบางครั้งอึดอัด เหงื่อแตกซึม วิงเวียนจะเป็นลม แล้วอาจจะวูบไป และเสียชีวิตในทันที แต่บางรายอาจจะคลายแน่นจุก ซึ่งคลายแล้วอาจจะมีอาการระลอกใหม่ซึ่งมักจะรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ขาดเลือด ขาดออกซิเจน และอาหารจนตายไป ทางการแพทย์เรียก “กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” (Acute Myocardial Infarction) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยของภาวะเช่นนี้ไว้ว่า “ภาวะหัวใจพิบัติ” (Acute Myocardial Infarction)
 
- อาการเหนื่อย หอบมาก
 
- อาการวูบ หรือหมดสติไป
 
       ในภาวะหัวใจขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างวิกฤติเช่นนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพื่อประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาเบื้องต้น บางโรงพยาบาล มีศักยภาพในการตรวจด้วยการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ และทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบหรือหากมีลิ่มเลือดที่อุดตัน ก็สามารถดูดเอาลิ่มเลือดเหล่านั้นออกมาได้ เพื่อให้เลือดสามารถไหลผ่านไปยังส่วนปลายของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อตรงบริเวณนั้นได้เลือดไปเลี้ยงดังเดิม ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงพยาบาลของรัฐในหลายจังหวัด และโรงพยาบาลเอกชนหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีศักยภาพในการรักษาด้วยวิธีการเปิดทางให้เลือดไหลผ่านบริเวณหลอดเลือดตีบตันให้สามารถไหลเวียนได้ แต่ในกรณีที่โรงพยาบาลนั้นยังไม่สามารถขยายหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ก็จะให้การรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือด และยาละลายเกร็ดเลือดเป็นเบื้องต้น จนอาการดีขึ้นระดับหนึ่ง แล้วจึงส่งต่อไปรักษาในขั้นต่อไป
 
       สัญญาณเตือนภัยต่างๆ ตามที่กล่าวมา จนทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน นำมาจนเกิดหัวใจขาดเลือด เป็นกระบวนการใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี จึงควรสำนึกเสียแต่เนิ่นๆ โดยการปฏิบัติและปรับพฤติกรรมของชีวิต ดังนี้
 
 
- รับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ แต่เพียงพอดี
- ออกกำลังกายตามความชอบ ความถนัด และพอดีอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ควรสูบบุหรี่ และพยายามไม่คลุกคลีกับผู้ที่สูบบุหรี่
- หากมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, ภาวะไขมันในเลือดสูง ต้องรักษาและควบคุมให้ปกติหรือใกล้เคียงปกติ
 
       วิธีการต่างๆ ดังกล่าว สามารถปรึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ได้ทั่วๆ ไปตามสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
 
       ท้ายนี้ขอเรียนว่าโรคหัวใจขาดเลือด สามารถป้องกันได้โดยการใช้ชีวิตที่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว และควรเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดในผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วก็ควรปฏิบัติตามวิธีการต่างๆ ดังกล่าว เพื่อลดโอกาสในการเกิดซ้ำอีกต่อไป
 
 
ศ.พิเศษ นพ.เศวต นนทกานันท์
โรงพยาบาลไทยนครินทร์