
ปี 2560 'มศว' ไต่ระดับ 'คณะแพทย์' ชั้นนำ 1 ใน 20 ของอาเซียน
08 ธ.ค. 2558
เปิดวิสัยทัศน์ : ปี 2560 'มศว' ไต่ระดับ 'คณะแพทย์' ชั้นนำ 1 ใน 20 ของอาเซียน : เรื่อง...ชุลีพร อร่ามเนตร / ภาพ ... ปชส.คณะแพทยศาสตร์ มศว
“แพทย์” อาชีพในฝันของเด็กไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แถมเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558 ยังเป็น 1 ใน 7 อาชีพเสรีทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดการเรียนการสอนมาจนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 30 ได้พัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตร ผลิตบัณฑิตแพทย์รองรับความต้องการของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว คณบดีคนที่ 8 เข้าดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลา 1 ปีกว่า เล่าว่า คณะแพทย์ มศว จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ผลิตนิสิตแพทย์ เก่ง ดี และมีความสุข และประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ ชั้นนำ 1 ใน 20 ของอาเซียน ในปี 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่อันดับที่ 24 ของอาเซียน ดังนั้น จากนี้คณะจะมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพของนิสิตแพทย์ และคณาจารย์ ตามแผนยุทธศาสตร์หลัก (Smart Med) ที่วางไว้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1S (Staff Focus) แผนยุทธศาสตร์เพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทุกระดับ ยุทธศาสตร์ที่ 2M (Management to Excellence) แผนยุทธศาสตร์การบริหารที่เน้นเป้าหมายของคณะแพทยศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 3A (Academic Passion) แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามมาตรฐาน TQF และ WFME ทุกหลักสูตร
ยุทธศาสตร์ที่ 4R (Research Capital) แผนยุทธศาสตร์สร้างงานวิจัยเป็นเลิศ ยุทธศาสตร์ที่ 5T (Teamwork of Health Science) แผนยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชุมชน ยุทธศาสตร์ที่ 6M (Modern Technology) แผนยุทธศาสตร์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยุทธศาสตร์ที่ 7E (Education and Learning Qrganization) แผนยุทธศาสตร์สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ และ 8D (Dignity & Values & Unity) แผนยุทธศาสตร์สร้างความภาคภูมิใจ เอกลักษณ์ และค่านิยมองค์กรเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของคณะแพทยศาสตร์
“หลังจากนี้เราจะมุ่งมั่งพัฒนาตามพันธกิจของคณะที่ต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย ใช้รูปแบบการสอนเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ถกเถียงแลกเปลี่ยน ส่งเสริมงานวิจัย ศึกษาโรคใหม่ๆ แนวทางในการรักษาสุขภาพ บริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์ที่สามารถอยู่กับชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดหลักสูตรทั้ง 6 ปี ที่นิสิตเรียน จะต้องลงพื้นที่ สัมผัส เรียนรู้ชุมชน แพทย์ มศว จึงเป็นแพทย์ของคนในชุมชน เป็นแพทย์ที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ใช่กระจุกอยู่ในเมืองอย่างเดียว การกระจายแพทย์ไปในชุมชนจะช่วยทำให้ชุมชนเกิดความเจริญ และการบริการประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น”
คณะแพทยศาสตร์ มศว มีกระบวนการหล่อหลอมนิสิตแพทย์ตั้งแต่ปีที่ 1-6 โดยตั้งแต่ปี 4 จะให้นิสิตแพทย์ฝังตัวอยู่ในชุมชน เพื่อรับทราบปัญหา ทั้งด้านสุขภาพ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพสังคม เพื่อให้แพทย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และนำเสนอปัญหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในชุมชน แพทย์ มศว จึงมีภาวะของการเป็นผู้นำ ผู้ช่วยเหลือชุมชน สังคม
คณบดีคณะแพทย์ มศว เล่าต่อไปว่า พยายามให้เด็กได้เรียนรู้จากสภาพจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยในแต่ละปีนิสิตจะต้องส่งรายงานถึงปัญหาสังคมด้านสุขภาพบนพื้นฐานการต่อยอดพัฒนาเป็นองค์ความรู้ หรืองานวิจัยที่จะช่วยแก้โจทย์ใหม่ๆ ด้านสาธารณสุข นิสิตแพทย์ของ มศว จึงไม่ได้มีเพียงองค์ความรู้ในการดูแล รักษา ป้องกันผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ ทำงานร่วมกับบุคลากรด้านอื่นๆ อย่าง นางพยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และประชาชน คนไข้ แพทย์ มศว เป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดี ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มศักยภาพ รักษาไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพ รับใช้สังคมทั้งในประเทศไทย และประเทศในอาเซียน
“แพทย์เป็นอาชีพที่เรียนมากกว่าอาชีพอื่นๆ การเรียนการสอนจึงต้องทำให้นิสิตมีความสุขด้วย มศว เปิดโอกาสให้นิสิตได้ทำกิจกรรม ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา รวมถึงมุ่งปลูกฝังจริยธรรมทางการแพทย์โดยยึดตามพระราชดำรัสองค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยและองค์พระราชบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย นั่นคือ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์ อีกทั้งส่งเสริมให้นิสิตแพทย์ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน มีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงานทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป ใฝ่หาความรู้ และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ นิสิตแพทย์ต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตของผู้ป่วย”
มศว รับนิสิตแพทย์ 180 คนต่อปี ทุกคนจะเป็นแพทย์ที่มีทักษะด้านการสื่อสาร มีความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสารได้เข้าใจชัดเจน ความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ และความสามารถในการใช้ไอซีที เพื่อการสื่อสาร อันมาจากรากฐานของความรู้ นอกจากนั้น แต่ละปี จะเปิดโอกาสให้นิสิต 20 คน สามารถเข้าร่วมโครงการร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร ผลิตแพทย์อินเตอร์ ที่ชั้นเตรียมแพทย์ 3 ปี นิสิตจะไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม และ 3 ปีหลังมาเรียนชั้นคลินิกที่ มศว เมื่อจบการศึกษา นิสิตจะได้รับปริญญาทั้งจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมและ มศว เป็นการเพิ่มศักยภาพของแพทย์ไทย
“นักเรียนที่จะเข้าเรียนแพทย์ นอกจากเรียนเก่งแล้วยังต้องมีความเสียสละ มีจิตใจที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น เห็นความทุกข์ยากของผู้อื่น มีจิตใจโอบอ้อมอารี และมีภาวะของการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนที่ถูกต้อง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มียาใหม่ๆ การรักษาแบบใหม่ๆ แพทย์ต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ รู้ทัน และต้องกลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุดให้คนในชุมชน เหมาะสมกับผู้ป่วย สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศ”
การเป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำ อันดับที่ 20 ของอาเซียนได้นั้น นอกจากมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ทันสมัยมีความเป็นนานาชาติภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนานาประเทศ ไม่ว่าจะจีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษในการแลกเปลี่ยนนิสิต คณาจารย์ การศึกษาดูงาน เปิดโลกทัศน์มุมมองในการเรียนรู้ทางด้านการแพทย์แล้ว ยังต้องคงไว้ซึ่งการเป็นแพทย์ของชุมชน โดยคณะแพทย์ มศว จะให้นิสิตได้สัมผัสทั้งชุมชนเมืองและท้องถิ่น ผ่านการเรียนการสอน นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 เรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 เรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร ส่วนชั้นปีที่ 4 ชั้นปีที่ 5 ชั้นปีที่ 6 ฝึกปฏิบัติงานชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องครักษ์ จ.นครนายก หมุนเวียนร่วมกันไปกับ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิขุ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
“ขณะนี้ คณะแพทย์ ถือเป็นคณะที่ขาดแคลนของประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีสถาบันผลิตแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 2,500 คนต่อปี แต่ความต้องการของประเทศประมาณ 3,500 คนต่อปี ดังนั้น ทุกคณะแพทยศาสตร์จึงพยายามเพิ่มการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเกี่ยวกับผู้ป่วย ทำให้บัณฑิตแพทย์ที่จบหลักสูตรมีมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย ประชาชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ในการเป็น Medicine swu คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำ ที่ดี เก่งและมีความสุข อยากให้ทุกคนที่มาเรียนแพทย์มีใจมุ่งมั่นที่พร้อมจะเสียสละเพื่อส่วนรวม”
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มศว เปิดการเรียนการสอน ภาควิชาคลินิก 14 ภาควิชา และภาควิชาพรีคลินิก 5 ภาควิชา และมีศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนเนื้อที่ 250 ไร่ ในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ จ.นครนายก โดยอาคารหลังแรกของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้เป็นอาคารโรงพยาบาล 500 เตียง มี 17 ชั้น พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มศว ขอเรียนเชิญร่วมบริจาคเพื่อผู้ป่วยยากไร้ภาวะวิกฤติ ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 283-212-990-9
สนใจติดต่อสอบถาม 0-2260-2122-4, 0-2260-2233-5 0-2260-2950-3 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม http://www.med.swu.ac.th/th/
-------------------
(เปิดวิสัยทัศน์ : ปี 2560 'มศว' ไต่ระดับ 'คณะแพทย์' ชั้นนำ 1 ใน 20 ของอาเซียน : เรื่อง...ชุลีพร อร่ามเนตร / ภาพ ... ปชส.คณะแพทยศาสตร์ มศว)