
อยากเปิดเผย...เลยเล่น 'ไฮไฟว์'
hi5 คำขอพบเพื่อนใหม่จาก Sainum Gam, เข้าดูข้อมูลส่วนตัว Facebook ของฉัน, Kitty has invited you to Tubely.
เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่จะพบข้อความข้างต้นในกล่องรับอีเมล จากทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักที่เชิญชวนให้ร่วมเป็นสมาชิกสังคมออนไลน์ กับบรรดาเว็บไซต์ยอดนิยม อย่าง ไฮไฟว์ เฟซบุ๊ก มายสเปซและ แทค บางคนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับจดหมายเหล่านี้ เพราะต้องคอยลบออกจากกล่องรับจดหมาย ขณะที่อีกหลายคนเลือกที่จะ "ตอบรับ" แบบไม่ยั้งคิด อะไรคือเหตุผลให้พวกเขาทำแบบนั้น
ดร.ภัทรสินี ภัทรโกศล ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามค้นหาคำตอบโดยศึกษาผลกระทบของสังคมออนไลน์ที่มีต่อสังคมไทยว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเล่นเน็ตเข้าร่วมสังคมออนไลน์มีความคล้ายคลึงกัน
"ส่วนใหญ่สมัครสมาชิกสังคมออนไลน์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เป็นสมาชิกแล้วจะอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำอะไรได้บ้าง เหตุผลรองลงมาคือต้องการใช้สังคมออนไลน์ในการติดต่อเพื่อน” นักวิจัย กล่าว
อินเทอร์เน็ต คือ แหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ เป็นเครือข่ายเรียนรู้ที่มีข้อมูลมหาศาล สามารถกำหนดเนื้อหาที่ต้องการดูได้ด้วยตัวเองและเข้าถึงง่าย โดยมีเว็บไซต์เป็นช่องทาง จึงถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่าย หรือชุมชนออนไลน์ ที่เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด เว็บสังคมออนไลน์ที่สำรวจพบมักมีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างกัน โดยมีพื้นที่ให้ฝากข้อความ แสดงรูปภาพและเล่นเกมร่วมกัน
การศึกษาผลกระทบสังคมออนไลน์ดังกล่าวเริ่มต้นสำรวจมุมมองของสมาชิกออนไลน์ 300 คน พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 12-40 ปี เป็นนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มคนทำงาน
"คนต้องการให้สังคมรับรู้ถึงการมีตัวตน นิยมเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา พวกเขาให้เหตุผลว่า สังคมออนไลน์ทำให้พบเพื่อน เพื่อนที่ว่าก็คือ เพื่อนที่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ห่างหายไป หรือขาดการติดต่อเป็นเวลานาน รวมถึงเพื่อนใหม่ในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 500 คน จากการอยู่ในสังคมออนไลน์เพียงไม่นาน" นักวิจัย กล่าว
“ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังที่ปรากฏในหน้าข่าว หญิงถูกล่อลวงไปข่มขืนหลังจากรู้จักพูดคุยผ่านเว็บไฮไฟว์ ตลอดจนการแอบแฝงขายบริการทางเพศ ไม่เว้นแม้แต่คำกล่าวอ้างจากพระสงฆ์ ที่เลือกใช้สังคมออนไลน์เป็นช่องทางเผยแผ่ศาสนา ขณะที่รูปร่างหน้าตาของเว็บดูขัดต่อเจตนารมณ์อันดี” เธออธิบาย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความตระหนักในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยไม่มองว่าข้อมูลที่เปิดเผยจะส่งผลร้าย หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ไม่กลัวที่จะถูกล่อลวง โดยเชื่อว่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ และคิดว่าผลกระทบจะเกิดกับเพื่อนมากกว่าที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
อย่างไรก็ตามย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมออนไลน์เหล่านี้มีอิทธิพลสูงต่อพฤติกรรมของคน ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มวิจัยสนใจคือ ทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ ที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประโยชน์ด้านการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ โดยใช้รูปแบบเดียวกับสังคมออนไลน์ ในการกระตุ้นพฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนไทย
"เดิมได้ทดลองนำ อี-เลิร์นนิ่ง และการศึกษาทางไกล (เทเลเอ็ดดูเคชั่น) มาใช้กระตุ้นพฤติกรรมการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร ตอนนี้ทีมงานจึงอยู่ระหว่างการวิเคราะห์พฤติกรรมในเว็บสังคมออนไลน์ เพื่อค้นหาช่องทางที่ต้องการต่อไป" ดร.ภัทรสินี กล่าว
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา