
ผลไม้ไทยในตลาดอาเซียน
04 ธ.ค. 2558
ทำกินถิ่นอาเซียน : ผลไม้ไทยในตลาดอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งมีความจำเพาะและต่างไปจากสินค้าเมืองหนาวเช่นแอปเปิลหรือสาลี่ที่เป็นผลไม้ในเขตอบอุ่นกึ่งหนาว แต่ผลไม้ไทยนั้นเข้าถึงตลาดอาเซียนมานานแล้ว แม้ว่าหลายประเทศในอาเซียนจะมีการผลิตผลไม้หลายอย่างได้เช่นเดียวกับประเทศไทยก็ตาม ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคในอาเซียนต่างก็ยกนิ้วให้ผลไม้จากประเทศไทยเพราะมีคุณภาพที่เหนือกว่าผลไม้ประเภทเดียวกันที่ผลิตได้ในประเทศของตน และมักจะได้ยินคำว่า “แบงค็อก” นำหน้าชื่อผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศไทยและนำไปจำหน่ายในตลาดขายปลีกในประเทศนั้นๆ เช่น Bangkok Durian Bangkok Longan เป็นต้น
การที่ผลไม้ของไทยมีคุณภาพเด่นกว่าผลไม้ที่ผลิตได้จากประเทศผู้ผลิตรายอื่นในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นเพราะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำสวนผลไม้ของเกษตรกรไทยจะต้องเสียภาษีอากร เรียกว่า “อากรสวน” ซึ่งเป็นการเก็บ “อากรต่อต้น” ของผลไม้ชนิดนั้นๆ การเก็บอากรสวน “ต่อต้น” ในสมัยนั้นมีผลสืบเนื่องต่อการพัฒนาคุณภาพและการเพาะปลูกผลไม้ของชาวสวนไทยตามมา และอาจกล่าวได้ว่าการเติบโตของภาคการผลิตผลไม้ไทยนั้นเติบโตมาจากการขวนขวายของเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ ส่วนที่เกิดจากความช่วยเหลือของภาครัฐนั้นมีเป็นส่วนน้อย
อีกทั้งการเป็นเกษตรกรชาวสวนมักจะเป็นคนขยันและมีทักษะและความคิดที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆ ได้เร็วกว่าเกษตรกรชาวนาหรือชาวไร่ ทำให้เกษตรกรชาวสวนส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเกษตรกรชาวนาและชาวไร่
หากจะมาดูการค้าผลไม้ของไทยในอาเซียน พบว่าในปี 2557 การค้าสินค้าผลไม้ของไทยกับประเทศในอาเซียนมีมูลค่าถึง 12,967 ล้านบาท ในจำนวนนี้สินค้าดาวเด่นที่สำคัญได้แก่ ลำไย มังคุด ทุเรียน และมะม่วง ส่วนการนำเข้าผลไม้จากกลุ่มอาเซียนด้วยกันมีเพียง 3,303 ล้านบาท ผลไม้นำเข้าที่สำคัญได้แก่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว และแก้วมังกร
การค้าผลไม้ของไทยจึงมีมูลค่าเกินดุลถึง 9,664 ล้านบาท และหากเทียบกับปี 2551 ไทยมีการส่งออกผลไม้ไปในอาเซียน 2,721 ล้านบาท และมีมูลค่าเกินดุลการค้าเพียง 2,720 ล้านบาท จะเห็นว่าบทบาทของพืชสวนไทยกำลังจะกลายเป็นดาวเด่นในการค้ากลับกลุ่มอาเซียน
การเปิดตลาดการค้าผลไม้ของไทยในอาเซียนภายใต้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับแต่ปี 2553 เป็นต้นมานอกจากจะก่อให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากด้านอุปสงค์ผลไม้ไทยจากผู้บริโภคในอาเซียนที่มีรวมกันเกือบ 600 ล้านคนแล้ว ความจำเพาะในการเป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ไทยจะทำให้สินค้าส่งออกผลไม้ของไทยมีตลาดจำเพาะและมีมูลค่าที่สูงขึ้นและเป็นปัจจัยเอื้อและส่งผลดีต่อการยกระดับภาคการผลิตและการค้าผลไม้ของไทยรวมถึงรายได้ของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ไทยตามมา
ดังนั้นสิ่งที่เกษตรกรชาวสวนจำเป็นจะต้องเรียนรู้คือการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการไปพร้อมๆ กับการรวมกลุ่มให้เข้มแข็งเพื่อให้เกิดการผลิตให้ได้ต่อขนาดและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ย่อมเชื่อได้ว่าอาชีพทำสวนผลไม้จะเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่งและอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
----------------------
(ทำกินถิ่นอาเซียน : ผลไม้ไทยในตลาดอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)