
ปริศนา!'วาฬ'337ตัวเกยหาด
02 ธ.ค. 2558
นักวิทยาศาสตร์ฉงน ชายหาดทางใต้ชิลีกลายเป็นสุสานวาฬ 337 ตัว เร่งไขปริศนาเกยหาดครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่น ว่า พบ 'วาฬเซ' (sei whales) มากกว่า 300 ตัว เกยหาดในภูมิภาคปาตาโกเนีย ห่างจากกรุงซานติอาโกไปทางใต้ราว 2,000 กิโลเมตร นับเป็นการพบซากวาฬเกยหาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้่งหนึ่งเท่าที่รับรู้ในแวดวงวิทยาศาสตร์
เริ่มแรก ทีมนักวิจัยพบซากวาฬ 37 ตัว เกยหาดเมื่อเดือนเมษายน ต่อมาในเดือนมิถุนายน นักวิจัยทำการสำรวจนับจำนวนด้วยการถ่ายภาพ และพบซากวาฬทั้งหมด 305 ตัวกับโครงกระดูกอีก 32 ตัว ในเขตไอเซน ระหว่างอ่าวเปยาส กับปูเอร์โต นาตาเลส ขณะยังมีอีกหลายจุดยังไม่สามารถเข้าไปถึงได้ จึงคาดว่าอาจมีซากวาฬมากกว่านี้อีก
เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ซากวาฬที่พบไม่มีบาดแผล บ่งชี้ว่าอาจตายเนื่องจากไวรัส หรือปรากฏการณ์เรด ไทด์ หรือการแพร่กระจายของสาหร่ายจำนวนมากผิดปกติที่ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีแดง
แคโรไลนา ไซมอน กัตสไตน์ นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยชิลี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขี้นเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ก็เป็นโอกาสให้ศึกษาพฤติกรรมของวาฬมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ชนิดนี้ในอนาคต ขณะที่ วเรนี ฮอสมานน์ นักชีววิทยา หนึ่งในผู้ร่วมบินสำรวจ กล่าวว่า ทีมงานได้รวบรวมตัวอย่างจากซากวาฬ และจะเผยแพร่รายงานในนิตยสาร เนชันแนล จีโอกราฟฟิก ในฉบับหน้า
วาฬเซ เป็นวาฬที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มวาฬบาลีน หรือวาฬชนิดไม่มีฟัน รองจากวาฬสีน้ำเงินและวาฬฟิน พบในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ตั้งแต่ไอซ์แลนด์ ถึงชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวเนซูเอลา และตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเม็กซิโก สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอซียูเอ็น) ขึ้นบัญชีวาฬเซ ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า พอลแลค เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โตเต็มวัยอาจมีความยาวกว่า 15 เมตร หนัก 20 ตัน หรือมากกว่านั้น
ช่วงปี 2542 - 2544 เคยพบวาฬเกรย์ ราว 600 ตัว เกยหาดแปซิฟิกในอเมริกาเหนือ ตั้งแต่รัฐอลาสกาจนถึงเม็กซิโก แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าครั้งนั้นใช้เวลานานและพื้นที่ใหญ่กว่านี้มาก
ข่าวการพบซากวาฬจำนวนมากมีขึ้นในขณะที่นานาประเทศกำลังเจรจาทำความตกลงยับยั้งอากาศโลกเปลี่ยนแปลงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นักชีววิทยาทางทะเลระบุว่าน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น เป็นแรงกดดันอันตรายต่อประชากรวาฬ เพราะทำลายห่วงโซ่อาหารและเปลี่ยนเส้นทางอพยพ
--------------------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : AFP)