ไลฟ์สไตล์

แรงบันดาลใจจาก‘ในหลวง’

แรงบันดาลใจจาก‘ในหลวง’

03 ธ.ค. 2558

ศิลปวัฒนธรรม : แรงบันดาลใจจาก ‘ในหลวง’

 
        แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรไทยนานัปการ หากในเวลาเดียวกันก็ทรงไม่ลืมเวลาผ่อนคลายด้วยการทรงงานศิลป์แขนงต่างๆ โดยเฉพาะ ภาพถ่าย จิตรกรรม และดนตรี จนมีการถวายพระราชสมัญญานามว่า “องค์อัครศิลปิน” และเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินทั้งสมัครเล่นและอาชีพจากรั้วศิลปากรสร้างสรรค์งานศิลป์แล้วจัดแสดงในนิทรรศการชื่อ “Connect สี แสงเทียน” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 โดยมีสองแม่งานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์และคณะจิตรกรรมประติิมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยหนุนนำให้งานศิลป์สวยๆ ถ่ายทอดออกมาอย่างสมบูรณ์
 
        พิธีเปิดจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีหัวใจศิลป์ ชวน หลีกภัย มาเป็นประธาน พร้อมด้วย ญนน์ โภคทรัพย์ นายแบงก์ใหญ่ตราใบโพธิ์ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร และ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร ร่วมชื่นชมผลงานเหล่าศิลปิน ซึ่งจัดแสดงกว่า 35 ผลงาน รวมถึงภาพจำลองภาพฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากงานวิจัยของ อ.ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบซึ้งในพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระองค์ในการทรงงานศิลปะทั้ง 3 แขนง สร้างความปลื้มปีติแก่ผู้พบเห็น โดย Connect หมายถึง กล้องถ่ายภาพเล็กๆ คู่พระองค์ กล้องแรกคือ Connect Midget สี หมายถึง ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่มีความงดงาม และแสงเทียน คือชื่อเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก
 
        ตัวอย่างผลงานศิลปกรรมของคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษา ที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำโดยผลงานชื่อ “บันทึกจากกรุงเวียนนา” ลายเส้นรูปนักดนตรีกำลังบรรเลงเพลงสนุกๆ บนกระดาษของ ชวน หลีกภัย ลงมือวาดขณะมีโอกาสไปร่วมชมดนตรีของวงดนตรีชื่อดังที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พร้อมกันนี้เจ้าของผลงานยังได้บรรเลงแซกโซโฟนเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษา ม.ศิลปากร อย่างรื่นรมย์
 
        “พระมิ่งขวัญของชาวไทย” ประติมากรรมสำริดขนาดความสูง 50 ซม.ของศิลปินอิสระ มานพ สุวรรณปินฑะ โดดเด่นด้วยความประณีตและมีรายละเอียดครบถ้วน ผู้เป็นเจ้าของบอกเล่าว่าที่ผ่านมาเห็นศิลปินคนอื่นปั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนบัลลังก์พุดตานกาญจนสิงหาสน์ แต่ไม่ค่อยเห็นรายละเอียดของบังลังก์มาก จึงพยายามใส่ทุกอย่างลงไปดุจของจริง ทั้งครุฑ เทวดา มองแล้วจินตนาการไปถึงความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ตัวเองเป็นเด็กเวลาครูให้วาดรูปคนก็จะวาดภาพในหลวง ผู้ชายใส่แว่น โดยมีต้นแบบจากธนบัตร เชื่อว่าคนไทยที่ชอบวาดรูปตอนเด็กๆ เป็นแบบนี้ เติบใหญ่ขึ้นมามีโอกาสได้ปั้นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2539 แล้วมีผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืม
 
        ความซาบซึ้งในแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจให้ เพชรลดา แก้วจีน นักศึกษาปี 5 คณะจิตรกรรมฯ สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์โลหะร่องลึกอันมีเอกลักษณ์ชื่อ “Gonna hold you” เจ้าตัวเล่าว่าสืบเนื่องมาจากงานศิลปะนิพนธ์ชิ้นแรกเรื่องความสุข แล้วพื้นที่ความสุขนี้เชื่อมโยงจากความคิดของในหลวงคือความพอเพียง จุดเล็กๆ นี้เป็นความพอเพียงในจิตใจมนุษย์ ในภาพจะแทนด้วยตัวเองและพี่สาว แวดล้อมด้วยธรรมชาติเรียบง่ายที่สร้างความสุขภายในจิตใจ ขณะที่ผลงานภาพถ่ายชื่อ “แบบอย่างแห่งความเพียร” ของ อ.ทวีวิทย์ กิจธนสุนธร ที่ใช้ตัวเองเป็นแบบแล้วใช้เทคนิคการซ้อนภาพออกมาเป็นภาพเดียว ศิลปินบอกด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติว่า เห็นภาพในหลวงทรงพากเพียรศึกษาจึงย้อนกลับมาดูตัวเอง กระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความเพียร ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะหากทำเต็มที่แล้วก็จะก่อประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในแง่ของศิลปะในหลวงทรงพระปรีชาเรื่องการถ่ายภาพในมุมมองที่แปลกใหม่อย่างการถ่ายภาพพระองค์เองขณะทรงดนตรีจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมใช้ตัวเองเป็นสื่อนำเสนอมุมมองศิลปะ เช่นเดียวกับลูกศิษย์ภาควิชาถ่ายภาพปี 3 วรางคณา ประเสริฐผล กับผลงานภาพถ่ายแปลกตา “ร่างกายของชายท่านหนึ่ง” เล่าถึงมุมมองส่วนตัวว่า การได้เห็นการทำงานของในหลวงที่หนักชวนให้นึกถึงคุณพ่อของตัวเองที่เป็นแบบอย่างเรื่อยมา คุณพ่อเป็นพนักงานรัฐวิสากิจที่พูดน้อยแต่ทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ที่ผ่านมาได้รับการเลี้ยงดูแบบทำตัวอย่างให้เห็น ไม่ตี ไม่พูดคำหยาบ สภาพนี้ไม่เน้นถ่ายหน้าตรง เพราะเกรงว่าจุดสนใจจะไปอยู่บนใบหน้า จึงถ่ายทอดออกมาในมุมกว้างๆ กระตุ้นความรู้สึก ที่สำคัญภาพขาวดำสามารถสะท้อนแก่นแท้ของความรู้สึกดีลึกซึ้งกว่าภาพสี
 
        ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากเชื้อเชิญให้เข้าไปสัมผัส โดยนิทรรศการจัดยาวไปจนถึง 29 มกราคม ศกหน้า เวลา 09.30-17.00 น. เว้นวันหยุดธนาคาร ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2544-4526