ไลฟ์สไตล์

จากสวนผักคนเมืองสู่ 'โรงเรียน'

จากสวนผักคนเมืองสู่ 'โรงเรียน'

03 ธ.ค. 2558

ทำมาหากิน : จากสวนผักคนเมืองสู่ 'โรงเรียน' ปลูกฝังเด็กเรียนรู้เกษตร-ธรรมชาติ

 
                      จากที่ผ่านมา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ล่าสุดได้นำแนวคิดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยวิถีธรรมชาติและการปลูกผักมาใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียน แต่ยังเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ และส่งผ่านองค์ความรู้นี้ไปยังองค์กรและโรงเรียนในเครือข่าย
 
                      โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ สังกัดสำนักงานเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนานักเรียนอย่างเป็นองค์รวมให้ครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตามหลักไตรสิกขา ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจัดทำโครงการ “เพาะรัก เพราะรัก” ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยวิถีธรรมชาติและการปลูกผักของโครงการสวนผักคนเมืองมาประยุกต์ในการเรียนการสอนจนประสบความสำเร็จ
 
                      ภัทรพร นิยมไทย ครูโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ บอกว่า การนำวิชาเกษตรมาบรรจุเป็นหลักสูตร เด็กๆ ได้เห็นของจริง ได้สัมผัสจริงจากธรรมชาติ ซึ่งเชื่อมโยงไปพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ ได้มากมาย การที่เด็กมองเห็นความงามเหล่านี้จะปลูกฝังให้เป็นคนอ่อนโยนได้ เช่น เด็กๆ ที่ไปปลูกคะน้า ได้หยิบพลิกดูใต้ใบก็จินตนาการเหมือนเส้นแม่น้ำ ก็จะนำไปวาดภาพ ซึ่งคืองานศิลปะ
 
                      นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้น เด็กๆ ทำแล้วจะได้เรียนรู้ธรรมชาติ เช่น ไม้ยืนต้น สัตว์น้ำ สัตว์บก ไม้พุ่ม ได้เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติที่เกี่ยวพันกันเป็นวัฏจักร เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าจะไม่รู้สึกแปลกแยก และได้มองเห็นของจริงด้วย
 
 
จากสวนผักคนเมืองสู่ \'โรงเรียน\'
 
 
                      โรงเรียนบ้านเจียรดับ สังกัดสำนักงานเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ใช้ประยุกต์เรื่องของผักและวิถีธรรมชาติเพื่อเสริมกระบวนการเรียนรู้เด็กๆ และผนวกเข้าในรายวิชาปกติ ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจในตัวเด็กมากขึ้น ตามโครงการ “ผัก ปลูก เด็ก” ซึ่งศิโรจน์ ชนันทวารี ครูบ้านโรงเรียนเจียรดับ เล่าว่า เดิมทีทางโรงเรียนได้บูรณาการวิชาคอมพิวเตอร์กับการเกษตร ซึ่งในครั้งแรกจะเริ่มให้เด็กได้ลงมือปลูกผัก ระหว่างที่รอผักเติบโตก็มาเข้าสู่การเรียนการสอนในวิชาคอมพิวเตอร์ โดยนำเอาการเกษตรมาประยุกต์ใช้ เช่น ในเด็กเล็กการสอนโปรแกรมวาดรูปก็ให้เด็กๆ ได้บันทึกหรือวาดรูปการเติบโตของต้นไม้ ส่วนเด็กชั้น ป.3-ป.4 จะเริ่มในโปรแกรมพิมพ์งาน ก็ให้เด็กเขียนบันทึกรายงานโดยใช้เทคนิคต่างๆ ส่วนเด็กโตจะเรียนโปรแกรมเอ็กเซล เช่น บันทึกส่วนสูงต้นไม้ กราฟสูงแค่ไหน เป็นต้น
 
                      ขณะที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม อย่างบ้านเรียนมุสลิม ก็จัดโครงการสวนผักหนูน้อยพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้เด็กเรียนรู้ โดย บุชรอ สมันเลาะ ครูบ้านเรียนมุสลิม บอกว่า การทำเกษตรปัจจุบันเป็นการสนองต่อตลาดขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษ จึงสอนการปลูกผักแบบปลอดสารพิษด้วย ภายใต้โครงการเกิดจากความรัก คือรักตัวเอง จึงชวนครู พ่อแม่ มาปลูกผักร่วมกัน จนเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา
 
                      ด้าน สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) บอกว่า การปลูกผักสามารถบูรณาการชีวิตและการเรียนได้ ซึ่งโรงเรียนที่สนใจสามารถนำเรื่องการปลูกผัก นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้แล้ว ผลผลิตสามารถนำไปสนับสนุนเป็นอาหารกลางวันให้เด็กได้อีกด้วย แต่โรงเรียนต้องมีความพร้อมสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ ที่ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วกินแต่จะต้องทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในมิติต่างๆ หรือรายวิชาได้ เพราะเมื่อคุณครูสามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมปลูกผักเหล่านี้กับการสอนรายวิชาแล้ว เด็กก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เนื่องจากการเรียนรู้ในห้องเรียนยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด จึงต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนขึ้นมา
 
                      นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่น่าสนใจ ที่นอกเหนือไปจากได้ปลูกฝังอาชีพการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยแล้ว ยังสามารถนำผลผลิตสนับสนุนโครงการอาหารกลางและสร้างมิติใหม่ๆ ให้แก่เด็กอีกด้วย