
รู้ทัน'โรคหลอดเลือดสมอง'ก่อนเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต
30 พ.ย. 2558
รู้ทัน โรคหลอดเลือดสมอง ก่อนเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
สถาณการณ์ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากขึ้นจนเป็นอันดับสอง รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ หรือถ้าหากไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก็จะมีภาวะทุพพลภาพหลงเหลือ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ถาวรไปตลอดชีวิต
“โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น แตก ตีบ ตัน อันทำให้ระบบประสาทส่วนกลางสูญเสียการทำงานอย่างชั่วคราวหรือถาวร ภาวะหลอดเลือดแดงตีบหรือแข็งตัว เกิดจากมีพลาก (Plaque) เกาะที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ทางสมอง ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ คนไทยจึงมักเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองนั้นมีทั้งแบบที่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความเสื่อมของเซลล์สมองจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
แต่สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถควบคุมได้เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ หลีกเลี่ยงการป่วยด้วยโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน และไขมันในเลือดสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพราะถ้าหากพบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง โอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับโรคนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โดย 80% ที่พบเป็นชนิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน และอีก 20% เป็นชนิดหลอดเลือดสมองแตก
1.หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง จะทําให้สมองส่วนที่เคยได้รับเลือดมาเลี้ยงขาดเลือด ทำให้ส่วนนั้นไม่สามารถทํางานได้ตามปกติ อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด มีไขมันและหินปูน มาสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทําให้รูทางเดินของหลอดเลือดแคบลงเรื่อยๆ จนมีการอุดตันในที่สุด พบได้มากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคต่างๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราจัด
2.หลอดเลือดสมองแตก ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ผู้ป่วยเป็นมานาน แบ่งเป็นหลอดเลือดสมองแตกในเนื้อสมองและหลอดเลือดแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นมาทันที เช่น ปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในบางรายอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้ตั้งแต่ระยะแรก เวียนหัว หน้ามืด วูบ ชาครึ่งซีกเฉียบพลัน แขนขาไม่มีแรง พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาการเหล่านี้เมื่อเป็นควรที่จะต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนที่สุด”
2.หลอดเลือดสมองแตก ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ผู้ป่วยเป็นมานาน แบ่งเป็นหลอดเลือดสมองแตกในเนื้อสมองและหลอดเลือดแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นมาทันที เช่น ปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในบางรายอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้ตั้งแต่ระยะแรก เวียนหัว หน้ามืด วูบ ชาครึ่งซีกเฉียบพลัน แขนขาไม่มีแรง พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาการเหล่านี้เมื่อเป็นควรที่จะต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนที่สุด”
การตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน เพื่อป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอีกหนึ่งวิธีในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค เพื่อป้องกันและลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งนำผลการตรวจคัดกรองไปวางแผนการรักษาได้อย่างถูกวิธี เพราะโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเป็นแล้วอาจไม่สามารถรักษาให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ครบ 100% ดังเดิมได้
พญ.จุฑาณัฐ ยศราวาส
อายุรแพทย์โรคระบบ
ประสาทและสมอง รพ.ปิยะเวท
.......................................
(หมายเหตุ รู้ทัน “โรคหลอดเลือดสมอง” ก่อนเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ)