Lifestyle

แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน : โดย...สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 
                      “ผมมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุได้ 10 ขวบ เมื่อก่อนยังว่ายน้ำในคลอง ใช้น้ำในคลองซักเสื้อผ้า ชาวบ้านยังตักน้ำในคลองใส่ตุ่ม ใช้สารส้มแกว่งแล้วเอามาใช้ในบ้านได้ ปลายังมีเยอะ ทั้งปลาตะเพียน ปลาหลด ปลากระทิง ปลากรายขนาดตัวละ 5-6 โลยังมี กุ้งก้ามกรามลงไปงมตามตลิ่งหาได้ง่าย เรือพายขายกล้วยอ้อย ขายขนมมีหลายลำ ช่วงลอยกระทงก็จะสนุกสนานกันทั้งคลอง” 
 
                      ลุงวาทิน รักสุวรรณนิมิต วัย 67 ปี ชาวบ้านริมคลองใกล้วัดลาดพร้าว เขตห้วยขวาง เล่าวิถีชีวิตชาวบ้านในคลองลาดพร้าวย้อนหลังไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน
 
                      เช่นเดียวกับ ลุงสำเนียง บุญลือ วัย 61 ปี แกนนำชาวบ้านชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 คลองลาดพร้าว บอกว่า “เมื่อก่อนตอนเช้า ตื่นมานุ่งผ้าขาวม้าลงไปอาบน้ำแปรงฟันในคลองได้เลย แต่ทุกวันนี้คงไม่มีใครกล้า กลัวจะตาบอด แต่เด็กๆ ก็ยังลงไปเล่นน้ำในคลองอยู่นะ ถ้าฟื้นฟูคลองขึ้นมาได้ก็จะดี ชาวบ้านก็มีแผนที่จะเดินเรือในคลอง เรือท่องเที่ยว และทำตลาดน้ำอยู่แล้ว”
 
 
แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน
 
 
                      ก่อนที่เมืองจะขยายตัว ริมคลองลาดพร้าวเคยมีโรงสีเล็กรับซื้อข้าวอยู่ 2 โรง เพราะพื้นที่รอบๆ ยังเป็นทุ่งนา ชาวบ้านดั้งเดิมยังทำนาเป็นอาชีพหลัก แม่ของลุงสำเนียงเมื่อก่อนก็ยังทำนา แต่มาเลิกราไปเมื่อราวปี 2518 เพราะความเจริญเริ่มคืบคลานเข้ามา ที่ดินราคาแพงขึ้น ทุ่งนาจึงกลายเป็นที่ดินจัดสรรและเป็นหมู่บ้าน โรงสีข้าวจึงพลอยหายไปด้วย
 
                      ส่วนสภาพน้ำในคลองเริ่มเน่าเสียตั้งแต่ปี 2528-2529 เพราะเมืองเริ่มขยายตัว มีตึกแถว ร้านค้า มีตลาดสด โรงนวด ฯลฯ รวมทั้งท่อระบายน้ำทิ้งของ กทม.ก็ปล่อยลงคลองโดยไม่มีการบำบัด นานวันเข้าน้ำในคลองก็เน่าเหม็นเป็นสีดำ กุ้ง ปลาจึงหายไป
 
                      คลองลาดพร้าว มีความยาวทั้งหมดประมาณ 22 กิโลเมตร เชื่อมกับคลองแสนแสบบริเวณชุมชนพระราม 9 ตัดผ่านถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ผ่านชุมชนประชาอุทิศ-ลาดพร้าว 80-พิบูลร่วมใจ 2-สะพานสอง- วัดลาดพร้าว-วังหิน-บางบัว-คลองสอง-สะพานใหม่-คลองถนน (เขตสายไหม) ไปเชื่อมกับคลองต่างๆ ที่แยกมาจากคลองรังสิตได้
 
                      ส่วน คลองบางซื่อ ที่เชื่อมกับคลองลาดพร้าว มีปากคลองอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านสามเสน- เกียกกาย-บางซื่อ เข้ามาในเขตห้วยขวางและเชื่อมกับคลองลาดพร้าวบริเวณใกล้วัดลาดพร้าว
 
 
แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน
 
 
                      ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากรที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้ได้บริษัทที่รับเหมางานแล้วในวงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนธันวาคม 2558
 
                      ส่วนแผนการรองรับชาวบ้านที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนให้พ้นแนวเขื่อน รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามแนวทางบ้านมั่นคง โดยการจัดผังชุมชนใหม่และสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม หรือกรณีที่ดินเดิมไม่พออาจจัดซื้อที่ดินใหม่ หรือหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ มารองรับ
 
                      อย่างไรก็ดี ก่อนที่โครงการก่อสร้างเขื่อนจะเข้ามา ในช่วงปี 2555 ภายหลังจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ผู้นำชาวบ้านในคลองลาดพร้าวและบางซื่อร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยว ทั้งราชการและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญปรึกษาหารือกันเรื่องการฟื้นฟูคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อที่อยู่ในเขตห้วยขวาง โดยมีการสำรวจคลองเพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการพัฒนาและฟื้นฟูคลอง
 
                      ต่อมาในปี 2557 จึงเริ่มมีการฟื้นฟูคลองบางซื่อขึ้นมา เช่น มีการจัดพิธีบวชคลอง มีการปลูกหญ้าแฝกลงในลำคลองเพื่อให้รากแฝกช่วยกรองน้ำเสีย และทำน้ำหมักจุลินทรีย์แล้วเทลงในคลองเพื่อให้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย จนถึงปัจจุบันนี้น้ำในคลองบางซื่อช่วงถนนรัชดาภิเษกลงมาถึงชุมชนลาดพร้าวซอย 46 น้ำในคลองใสขึ้น มีปลาแหวกว่ายให้เห็น ต่างจากน้ำในคลองลาดพร้าวที่มีสีดำเหมือนโอเลี้ยง
 
 
แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน
 
 
                      ผศ.พงศ์พร สุดบรรทัด ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ในฐานะประธานประชาคมเขตห้วยขวาง กล่าวว่า เขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนและคลอง โดยตนจะเสนอให้สภาสถาปนิกเข้ามาพูดคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คมนาคม และมหาดไทย เพื่อร่วมกับชาวบ้านพัฒนาชุมชนและคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เป็นเวนิสตะวันออกอย่างแท้จริง แม้ในวันนี้น้ำในคลองลาดพร้าวจะเน่าเสีย แต่ในวันข้างหน้าจะต้องมีโครงการบำบัดน้ำเน่าเสียอย่างแน่นอน เพราะในขณะนี้ กทม.ก็จะเริ่มโครงการบำบัดน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบแล้ว ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาท ดังนั้นคลองลาดพร้าวซึ่งเชื่อมกับคลองแสนแสบในอนาคตก็จะต้องแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยเช่นกัน
 
                      “ถ้าหากคลองแสนแสบใสสะอาด คลองลาดพร้าวก็จะต้องใสด้วยเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศจะมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง และต้องแยกท่อน้ำทิ้งออกจากท่อน้ำดี ซึ่งโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของกทม.จะต้องไม่เป็นท่อระบายน้ำทิ้งเพียงอย่างเดียว และเราจะพัฒนาให้มีการเดินเรือเพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมจากสะพานใหม่มาในคลองลาดพร้าว-คลองแสนแสบ และออกไปคลองพระโขนงได้ เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้า หรือการคมนาคมทางบก คาดว่าภายในปีหน้าจะเริ่มการเดินเรือได้ โดยให้ชาวบ้านริมคลองมีส่วนร่วม” 
 
                      จำรัส กลิ่นอุบล ผู้นำชุมชนลาดพร้าว 45 คลองลาดพร้าว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หลายปีเคยมีการเดินเรือในคลองลาดพร้าวจากสะพานใหม่ไปพระโขนง แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ทั้งยังเกิดปัญหากับชุมชน เช่น เรือวิ่งเร็ว เสียงดัง คลื่นจากคลองกระแทกบ้านริมคลอง และเมื่อการเดินเรือในช่วงนั้นไม่ได้รับความนิยม บริษัทเอกชนที่มาวิ่งเรือจึงเลิกไป ซึ่งหากมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตในคลองแล้ว และจะมีการเดินเรือในคลองก็จะไม่มีผลกระทบกับบ้านที่อยู่ริมคลอง และจะสามารถเชื่อมการคมนาคมระหว่างถนนลาดพร้าวกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีสถานีบริเวณถนนรัชดาภิเษกได้
 
                      “ทุกวันนี้ในชั่วโมงเร่งด่วนในถนนลาดพร้าวรถจะติดมาก และหากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในถนนลาดพร้าวขึ้นมาอีก การจราจรก็จะยิ่งเป็นอัมพาตขึ้นไปอีก เราจึงคิดแผนเรื่องการเดินเรือในคลอง ในระยะแรกอาจจะเป็นช่วงสั้นๆ จากสะพานสองหรือวัดลาดพร้าวไปเชื่อมกับคลองบางซื่อที่ถนนรัชดาภิเษกซึ่งมีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่แล้ว หรือจากคลองลาดพร้าวอาจเชื่อมไปยังคลองแสนแสบหรือเชื่อมต่อกับรถยนต์ที่ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทราได้”  จำรัส เล่าด้วยว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีเรือยนต์ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 20-30 คน จำนวน 3 ลำ
 
 
แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน
 
 
                      “ส่วนในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ เครือข่ายชุมชนในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อได้ร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทงและฟื้นฟูประโยชน์จากการใช้คลองขึ้นมา โดยจะมีการตักบาตรทางเรือ การแข่งพายเรือเล็ก การแห่กลองยาวทางเรือ การแสดงและการละเล่นต่างๆ ของชาวบ้านในวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่คลองบางซื่อบริเวณซอยลาดพร้าว 42 และในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่คลองลาดพร้าวบริเวณชุมชนร่วมใจพิบูล 2 จึงขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย” จำรัส กล่าว
 
                      กมลทิพย์ คงประเสริฐอมร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำคณะกว่า 10 คน มาสำรวจคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กล่าวว่า การมาสำรวจคลองเพื่อดูสภาพการใช้ประโยชน์จากคลองของชาวบ้าน และดูเรื่องท่อระบายน้ำทิ้งทั้งจากชุมชน โรงงาน ร้านค้า และท่อน้ำทิ้งของกทม. หลังจากนั้นจะจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านในคลองลาดพร้าว-บางซื่อทั้ง 13 ชุมชนเพื่อดูความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการพัฒนาคลองไปในแนวทางไหน อย่างไร
 
                      และหลังจากนั้นจึงจะนำแผนงานของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคลองมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดทำเป็นแผนการพัฒนาคลองสนับสนุนความต้องการของชาวบ้านต่อไป ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ ก็ได้จัดทำโครงการในลักษณะนี้ไปแล้วที่หัวหินและอยุธยา
 
                      นี่คือก้าวย่างในการพัฒนาและฟื้นฟูคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ โดยการริเริ่มของชาวบ้านและภาคประชาสังคม ขณะที่หน่วยงานรัฐจะมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี สามารถช่วยเชื่อมเส้นทางคมนาคม และสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนได้.!!
 
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : แก้น้ำเน่าคลองลาดพร้าว-บางซื่อ ฟื้นคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน : โดย...สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ