
สนองพระราชดำริลุ่มน้ำป่าสักตอนบน จัดการน้ำ 'ระยะยาว'
17 พ.ย. 2558
ทำมาหากิน : สนองพระราชดำริลุ่มน้ำป่าสักตอนบน วางแผนพัฒนาจัดการน้ำ 'ระยะยาว' : โดย...โต๊ะข่าวเกษตร
ลุ่มน้ำป่าสัก มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 9.76 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา เลย ชัยภูมิ และนครราชสีมาบางส่วน ประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำป่าสักตอนบน ห้วยน้ำพุง แม่น้ำป่าสักส่วนที่ 2 แม่น้ำป่าสักส่วนที่ 3 ห้วยเกาะแก้ว ลำสนธิ แม่น้ำป่าสักตอนล่าง และห้วยมวกเหล็ก
ลุ่มน้ำวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตอนบนของลุ่มน้ำมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ขนาบสองข้าง โดยแม่น้ำป่าสักที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขต อ.ด่านซ้าย ทางตอนใต้ของ จ.เลย ไหลผ่าตรงกลางพื้นที่ตัว จ.เพชรบูรณ์ ลงมาผ่าน จ.ลพบุรี สระบุรี โดยมีเขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำและระบายน้ำแห่งแรกในประเทศไทยสร้างปิดกั้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนไหลลงบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา
ปัญหาของลุ่มน้ำป่าสักคือน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก อีกทั้งปริมาณน้ำที่หลากลงไปซ้ำเติมพื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ท่วมแทบทุกครั้ง ในยามน้ำเหนือหลากลงมา
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ถือกำเนิดด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย เพราะมีการต่อต้านคัดค้านรุนแรงจากในพื้นที่ แม้เปิดโครงการได้ก็ต้องพยายามลดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกินของราษฎร ด้วยการจำกัดขนาดความจุอ่างเพียง 960 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทั้งที่มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี น้ำจะไหลลงเต็มอ่างอย่างรวดเร็ว จนต้องพร่องน้ำเป็นระยะๆ
ด้วยข้อจำกัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้กรมชลประทานศึกษาหาทางเก็บกักน้ำบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนบน โดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตาม แผนระยะเร่งด่วน 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหิน จ.ลพบุรี อ่างความจุ 2.25 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นอยู่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ความจุ 8.40 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้อ ความจุ 20.58 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ความจุ 13.25 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยนา ความจุ 5.65 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองลำกง ความจุ 48.52 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ความจุ 17.20 ล้านลูกบาศก์เมตร
“อ่างเก็บน้ำระยะเร่งด่วน 7 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว โดยมีความจุรวมทั้งสิ้น 115.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยให้พื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณนี้รอดพ้นจากอุทกภัยในฤดูน้ำหลากได้ค่อนข้างดี เหลือแต่ระบบส่งน้ำที่จะก่อสร้างในระยะต่อไป” ประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กล่าว พร้อมระบุแผนระยะปานกลางว่า ได้วางแผนก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยชุนใหญ่ ความจุ 7.52 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก (ตอนล่างอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์) ความจุ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล ความจุ 12.82 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยชุนน้อย ความจุ 8.63 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบบส่งน้ำต่อจากอ่างเก็บน้ำระยะเร่งด่วน รวมทั้งระยะกลาง
แผนระยะยาว ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยผักเฮี้ย ความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองน้ำหิน ความจุ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำบ้านเสลี่ยงแห้ง 3 ความจุ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำบ้านนางั่ว ความจุ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ความจุ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยชะเอม ความจุ 3.45 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ ความจุ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำคลองบ้านหวาย ความจุ 3.12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความจุ 52.57 ล้านลูกบาศก์เมตร
“โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้ เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบูรณ์ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ขณะเดียวกันมีแหล่งน้ำต้นทุนช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ดีขึ้น สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 1 แสนไร่ จากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 แสนไร่” ประพิศ กล่าว
กล่าวโดยสรุป โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำป่าสักตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแผนระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว จะทำให้ลุ่มน้ำป่าสักเพิ่มความจุแหล่งน้ำ 258.39 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 171,150 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 157,050 ไร่ รวมทั้งลดผลกระทบน้ำแล้ง และท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำอีกด้วย
---------------------
(ทำมาหากิน : สนองพระราชดำริลุ่มน้ำป่าสักตอนบน วางแผนพัฒนาจัดการน้ำ 'ระยะยาว' : โดย...โต๊ะข่าวเกษตร)