
ส่องประเด็นร้อน 'สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา'
06 พ.ย. 2558
ส่องประเด็นร้อน 'สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา' : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
เป็นข้อเรียกร้องที่ต่อสู้กันมาตลอดในเรื่อง “การปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาที่ควรได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” และดูเหมือนว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาดังกล่าว สื่อจะตกเป็นเป้าโจมตี และถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมในการเสนอข่าวเรื่องนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวในสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ผู้ต้องหาคนนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมายไทย หรือแม้กระทั่งการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ต้องหา
ด้วยเหตุผลดังกล่าว "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" จัดเสวนาเรื่อง “สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา” จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน โดยการสัมมนาครั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักสิทธิมนุษยชน องค์กร มูลนิธิ เครือข่ายผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อ เจ้าของสื่อ บรรณาธิการ หัวหน้าข่าว นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง
“ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แสดงความคิดเห็นว่า มีคำร้องที่ส่งเข้ามาที่กรรมการสิทธิจำนวนมากที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อในลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องหา โดยมีคำร้อง 2 ประเด็น คือ 1.นำผู้ต้องหาในคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เพื่อทำแผนประทุษกรรม 2.นำผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งการนำผู้ต้องหาไปนำชี้ที่เกิดเหตุอยากถามว่า จำเป็นหรือไม่ และถ้าจำเป็นควรจะมีลักษณะอย่างไรที่จะชอบด้วยกฎหมายและไม่ละเมิด นั่นคือสาระสำคัญ เพราะเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเจอขบวนนักข่าว และไม่มีเชือกกั้น ปล่อยให้เกิดการย่ำทำลายพยานหลักฐานกลายเป็นว่า กลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปทำลายหมดแล้ว แต่ในต่างประเทศมีเชือกกั้น คลุมโม่ง ไม่ให้เห็นอัตลักษณ์ผู้ต้องหา จึงเป็นสาระที่ตำรวจต้องระมัดระวัง อีกทั้งการทำแผนไม่ควรบอกประชาชน เพราะประชาชนจะไปรุมยำ ซึ่งเป็นการตัดสินโดยประชาชน รวมทั้งสื่อต้องระวังไม่ควรถ่ายเครื่องพันธนาการ โซ่ตรวน โซ่ล่าม กุญแจเท้า กุญแจมือด้วย เพราะในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
“เคยมีกรณีที่ว่า สื่อนำเสนอข่าวพ่อจนลูกเขาอยู่ในชั้นเรียนไม่ได้ เพื่อนในโรงเรียนบอกว่า พ่อเขาไปกระทำชำเราทั้งที่ศาลยังไม่ได้พิพากษา และยังมีหลายเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงคือปล่อยให้สื่อไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหาว่าทำผิดอย่างไร ซึ่งสื่อทำหน้าที่เป็นศาลหรืออย่างไร ดังนั้นตำรวจต้องมีนโยบายออกมาให้ชัดเจน อาทิ นโยบายให้ใช้ตำรวจหรือหุ่นทำแผนประกอบคำรับสารภาพแทนได้หรือไม่ และเรื่องนี้กรรมการสิทธิเคยรับฟังข้อเสนอไปในสื่อส่วนภูมิภาคหลายครั้ง โดยสรุปว่าควรจะมีคู่มือ และการทำความเข้าใจ คู่มือให้การทำข่าวอยู่ในกติกาว่า การนำเสนอข่าวอย่างไรไม่ให้กระทบสิทธิไม่ให้ถูกฟ้อง และผมก็เชื่อว่าสื่อสนใจเรื่องนี้”
อีกหนึ่งมุมมองจากสภาทนายความ “วีรศักดิ์ โชติวานิช” ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ผู้ต้องหาไม่เรียกค่าเสียหายกับสื่อที่กระทำละเมิดสิทธิว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ต้องหาไม่มีกำลังไม่มีทุน และไม่รู้ช่องทางว่าจะติดต่อหน่วยงานไหนในการเรียกร้อง พูดง่ายๆ คือ เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม แต่หากมาหาสภาทนายความจะฟ้องให้ และต้องเข้าใจว่า คนไทยอะไรที่นานๆ ไป ก็จะเปลี่ยนใจไม่อยากฟ้องคดี เรียกว่าถอดใจ เพราะตัวเองก็ทนทุกข์ทรมานมานานแล้ว ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องนี้คิดว่าผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่นำกฎหมายมาบังคับ และประเทศไทยมีกฎหมายเยอะมาก แต่ผู้บังคับปฏิบัติใช้กฎหมายไม่ถูก กฎหมายบางฉบับใช้ครั้งเดียวก็เลิก ทั้งนี้จากการรวบรวมกฎหมายทั้งหมดพบว่ามีหลายพันฉบับที่มีความซ้ำซ้อนกัน ขัดกันเอง ขัดกับรัฐธรรมนูญก็มี คิดว่าควรจะต้องปรับปรุง
ขณะเดียวกันมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เห็นว่า เคยมีคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ห้ามไม่ให้แถลงข่าว ถ่ายภาพผู้ต้องหา เว้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตำรวจบางท่าน โดยตำรวจระบุ 4 เหตุผลในการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวว่า 1.เป็นนโยบายของนายตำรวจระดับสูงเพื่อแถลงผลงาน 2.บางครั้งสื่อมวลชนเองบอกให้จัดแถลงข่าวหน่อยเพื่อให้ได้ข่าว 3.ตำรวจหรือสื่อต้องการเสนอข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่านี่คือตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และ 4.เพื่อประณามและประจานสำหรับผู้ต้องหาที่กระทำผิดที่ต้องให้ได้รับความอับอาย แต่ในทางสากลผู้ต้องหาถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกศาลพิพากษา ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนระบุว่าการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว การทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือประทุษกรรมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าเมื่อผู้ชมเห็นภาพแบบนี้ประชาชนจะรู้สึกดีใจที่จับตัวคนร้ายได้เสียที และปักใจเชื่อว่าคนนี้คือคนร้าย 100% เคยมีตัวอย่างที่ประเทศสเปนว่าผู้ต้องหาที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วปรากฏว่า ศาลตัดสินว่า ไม่ผิด เขาจึงฟ้องศาลจนศาลพิพากษาให้ลบข้อมูล และข่าวที่มีเกี่ยวกับเขาทั้งหมดย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งสื่อต้องถอดชิ้นข่าวเขาย้อนหลัง 10 ปี และกูเกิลต้องลบข้อมูลด้วยเช่นกัน เขาร้องที่ประเทศสเปน สู้มา 10 ปี และกูเกิลไม่เห็นด้วย เพราะเขามีหน้าที่เผยแพร่ เขาไม่ได้ทำข่าว แต่สุดท้ายต้องยอม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นมาตรฐานทั่วโลกแล้ว” นายธาม กล่าว
นักวิชาการด้านสื่อ ยังกล่าวถึงการถ่ายภาพผู้ต้องหาด้วยว่า ในข่าวไม่ควรเปิดเผยกลวิธีของการก่ออาชญากรรมที่ทำให้คนดูรู้ช่องทางในการทำผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการให้รายละเอียดที่มากเกินไปในข่าว สื่อทำไมเปิดเผยอัตลักษณ์ มีทั้งรอยสักรอยแผลเป็น ทั้งที่ความจริงอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ถ่ายไม่ได้ เพราะภาพแบบนี้มีมาตรฐานสากล ซึ่งต้องถ่ายกวาด ถ่ายกว้างและถ่ายไกล ช่างภาพเคยถามว่า ถ้าไม่ให้ถ่ายศพ จะให้ทำข่าวยังไง ซึ่งเรื่องนี้มีกลวิธีในการถ่ายภาพ ในการหลบ หลีกเลี่ยง หรือ “กว้าง กวาด ไกล” ไม่ต้องเข้าไปใกล้ๆ ให้เห็นศพ เพื่อไม่ให้เห็นอัตลักษณ์
ด้านตัวแทนสื่อและองค์กรสื่อ “วัชรินทร์ กลิ่นมะลิ” อดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า เป็นนักข่าวและช่างภาพข่าวอาชญากรรม ส่วนตัวมองว่าการสมัครงานเข้ามาก็ไม่รู้เรื่องพวกนี้ และจะให้เขาทำได้อย่างไร เพราะนักข่าวรุ่นใหญ่ปลูกฝังมาแบบนี้ว่า คนไทยชอบเสพข่าวแบบนี้ สื่อยักษ์ใหญ่ก็นำเสนอภาพข่าวและทำข่าวแบบนี้ ไม่มีใครให้ทางออก ไม่มีใครบอกว่าอันนี้ถูกหรือไม่ถูก รวมทั้งไม่มีใครรู้กระทั่งว่า การขึ้นไปทำข่าวบนโรงพักผิดกฎหมาย สะพายกล้องขึ้นโรงพักไม่ได้ ออฟฟิศไม่เคยบอก มหาวิทยาลัยไม่สอน และส่วนสำคัญต้นตอเกิดจากแหล่งข่าว นักการเมือง ตำรวจ ที่เรียกนักข่าวมาแถลงข่าว เป็นวัฏจักรที่สืบทอดกันมา จึงขอเสนอว่า ควรจะมีกระบวนการรับนักข่าวและช่างภาพเพราะเป็นอาชีพเฉพาะ ดังนั้นการรับนักข่าว ช่างภาพต้องมีอะไรมากกว่ากรอกใบสมัคร ซึ่งการอบรมให้ความรู้เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ “เข็มพร วิรุณราพันธ์” ตัวแทนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มองว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่นักข่าวควรรู้ แต่ประชาชนควรรู้ด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนกลายเป็นสื่อด้วยตัวเอง โอกาสที่เขาจะละเมิดซ้ำก็เป็นไปได้ ดังนั้นทั้งสังคมควรจะเข้าใจและตรวจสอบสื่อด้วย และตัวเองเป็นสื่อด้วยจะได้ไม่ละเมิดซ้ำ และยังเป็นการปกป้องสิทธิตัวเองได้ สังคมต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งหมดในเรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่เราจะต้องช่วยกันคิด
--------------------
(ส่องประเด็นร้อน 'สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา' : โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง)