Lifestyle

เหยื่อ!...อาหารเสริมเพิ่มสูง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหยื่อ!...อาหารเสริมเพิ่มสูง? : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 
                      “จะดีไหม..ถ้าสูงได้อีก 5-6 cm.”
 
                      “มหัศจรรย์?!?..แห่งการเพิ่มความสูง”
 
                      “อาหารเสริมขั้นเทพ!!.เปลี่ยนคุณคนเดิมไปตลอดกาล...”
 
                      “ยืดได้...เท่ได้...อย่างไม่อายใคร...ใช้ผลิตภัณฑ์....”
 
 
                      ข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ “อาหารเสริมเพิ่มความสูง” หลากหลายยี่ห้อถูกโพสต์กระจายขายตรงทั่วอินเทอร์เน็ต อ้างว่านำเข้าจากอเมริกาหรือญี่ปุ่น บริการส่งฟรี ลดแลกแจกแถม...ซื้อ 3 กระปุก แถม 1 กระปุก...
 
                      อาหารเม็ดเหล่านี้เพิ่มสูงได้จริงหรือไม่?
 
                      คม ชัด ลึก ได้รับการร้องเรียนว่าในโลกออนไลน์มีการโฆษณาขายสินค้าอาหารเสริมเพิ่มความสูง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน แถมราคาขายค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 800-2,000 บาท บางรายอ้างว่าได้รับการรับรองจาก “อย.” หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย
 
                      “นพ.สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและต่อมไร้ท่อให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาวงการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลอาหารเสริมตัวใด สามารถทำให้ผู้ใหญ่ที่หยุดวัยเจริญเติบโตแล้วสูงขึ้นได้อีก โดยทั่วไปแล้วความสูงในผู้หญิงจะเริ่มชะลอเมื่ออายุประมาณ 14 ปี ส่วนผู้ชาย 16 ปี หรือบวกลบไม่เกิน 1-2 ปี ความสูงของร่างกายคนมี 2 ส่วนประกอบด้วยกันคือ ลำตัวท่อนบนจะเริ่มสร้างจนถึงอายุ 10 ปี ส่วนท่อนขาจะเริ่มยืดอย่างรวดเร็วที่อายุ 7-14 ปี เมื่อพ้นช่วงอายุดังกล่าวไปแล้วความสูงแทบจะไม่เพิ่มขึ้นซึ่งการกินอาหารเสริมในผู้ใหญ่จึงไม่มีทางเป็นไปได้
 
                      ด้าน “รศ.นพ.วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล” รองหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสูงมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมถือเป็นอาหารหลักของกระดูก แต่เมื่อเทียบกับกรรมพันธุ์จะส่งผลต่อความสูงได้มากกว่า แม้กรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญ แต่กระดูกก็เหมือนธนาคาร การสะสมแคลเซียมจำเป็นต้องทำตั้งแต่วัยเด็ก
 
                      “หากสะสมมากๆ และออกกำลังกาย รวมทั้งนอนหลับอย่างเพียงพอ ช่วยเพิ่มความสูงได้ ปัจจุบันแพทย์จะรับรักษาเด็กที่มีโกรทฮอร์โมนจากสมองที่ผิดปกติเท่านั้น ด้วยการฉีดโกรทฮอร์โมนเข้าไปกระตุ้นแต่การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและตระหนักถึงผลข้างเคียงที่ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ เนื้องอก จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น” แพทย์ข้างต้นกล่าวอธิบาย
 
                      “ชลัท อุยถาวรยิ่ง” หัวหน้างานกิจกรรมนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เล่าว่า ในอินเทอร์เน็ตมีการโฆษณาอาหารเสริมเพิ่มสูงจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแอบอ้างคุณสมบัติเกินจริง
 
                      “สมัยนี้มันหลอกกันง่ายก่อนจะซื้ออะไรกิน อยากให้เด็กและเยาวชนต้องคิดให้ดี ตรวจสอบก่อนว่าเชื่อถือได้แค่ไหนอย่าได้ไปสนใจเรื่องอาหารเสริม ความสวยงาม เพิ่มความสูงควรตั้งใจเรียนอย่าสร้างภาระให้พ่อแม่"
 
                      “รติญา ลิขิตอำนวย” นักวิชาการด้านสุขภาพโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ยอมรับว่า ประชาชนหลงเชื่อคำโฆษณาในโซเชียลมีเดีย โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้
 
                      “ถ้าเขียนว่า กินแล้วเห็นผลทันที ภายใน 3 วัน 7 วัน ไม่มีผลข้างเคียง 100% แบบนี้ให้ฉุกคิดก่อนเลยว่าต้องมีสารบางตัวที่ไม่ปลอดภัยแน่นอนควรตรวจสอบข้อมูลประกอบโดยเฉพาะด้วย ทั้งเลขทะเบียนเลข อย. และแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ประกอบจนแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ จึงจะเชื่อในผลิตภัณฑ์นั้นๆ” รติญา กล่าวเตือน
 
                      ขณะที่ “จตุพร พิจิตรศิริ” บอกว่า หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เคยมีความคิดที่จะซื้ออาหารเสริมเพิ่มความสูงมากินตามคำโฆษณาแต่ติดตรงที่ราคาค่อนข้างแพง และไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ จึงเลิกล้มความคิดไป เพราะไม่เชื่อมั่น ไม่รู้กินแล้วจะสูงขึ้นจริงไหม จะต้องกินต่อเนื่องกี่กระปุก กี่เดือน กี่ปีถึงจะเห็นผล 
 
                      “สุรีย์ เหลือพิพัฒน์ศร” ประชาชนใน จ.นนทบุรี บอกว่า ไม่เชื่อตามคำโฆษณาว่ากินแล้วจะสูงขึ้น เพราะความสูงต่ำ ดำขาว ของคนเราอยู่ที่สรีระและพันธุกรรม ถ้ากินในวัยเด็กก็อาจเป็นไปได้ เพราะเด็กอยู่ในวัยเติบโต
 
                      “จากประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่าเด็กหญิงจะหยุดโตหยุดสูง เมื่อมีประจำเดือน แต่เด็กผู้ชายจะสูงขึ้นและโตเต็มที่อายุ 20-22 ปี จากนั้นจะไม่สูงแล้ว เพราะเคยให้ลูกชายกินนมและกินอาหารเสริม ตอนเขาอายุ 20 ก็ไม่สูงขึ้นตามคำโฆษณา ซึ่งเจ้าตัวก็บอกเองว่า มันคงไม่สูงไปกว่านี้แล้ว" สุรีย์ กล่าว
 
                      ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ดูแลผู้บริโภคอธิบายเพิ่มเติมถึงกฎหมายเอาผิดผู้ขายอาหารเสริมที่หลอกลวงในสื่อออนไลน์และวิธีการสังเกตตัวเลขอนุญาตจาก อย.ดังนี้
 
                      “พชร แก้วกล้า” เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน องค์กรผู้บริโภคและพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่า การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถทำได้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร
 
                      “การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต หรือสื่ออะไรก็แล้วแต่ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการตรวจสอบ เลือกซื้อ อย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างสรรพคุณใดๆ ไม่มีอาหารเสริมตัวใดที่กินแล้วสวย กินแล้วผอม กินแล้วเพิ่มความสูงได้จริง เพราะอาหารกินเพื่อประทังชีวิตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสรีระร่างกายให้เป็นอย่างอื่นไปได้” พชร กล่าวต่อว่า
 
                      การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันเป็นความเสี่ยงค่อนข้างรุนแรง ผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ระมัดระวัง หาข้อมูลรอบด้านชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเลขอนุญาต อย.ถูกต้องหรือไม่ และได้รับอนุญาตให้โฆษณาจริงหรือไม่ เพราะคำว่า “ผ่าน อย.” หรือ “มี อย.รับรอง” นั้น หมายความว่า มีการจดทะเบียนในสารบบอาหารเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ให้โฆษณาได้ซึ่งกรณีของอาหารให้ดูอักษรขึ้นต้นด้วย ฆอ. ส่วนกรณียาจะขึ้นต้นด้วย ฆท.
 
                      “นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข” เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยอมรับว่า มีการโฆษณาอาหารเสริมเพิ่มความสูงเกินจริงทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูลส่งให้ทีมสืบสวนหาต้นตอว่ามาจากที่ใดบ้าง ที่ผ่านมามีการสืบสวนดำเนินคดีไปแล้วกว่า 100 ราย ขอยืนยันต่อผู้บริโภคว่า ไม่มีอาหารเสริมใดที่กินแล้วเพิ่มความสูงได้ นอกจากยาชื่อว่า “โกรทฮอร์โมน” ที่ใช้ในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
 
                      “เรื่องนี้ อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลส่งมอบให้คณะทำงานกระทรวงไอซีที ซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนจับกุมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง“ เลขาธิการ อย.กล่าวยืนยันทิ้งท้าย
 
                      ผู้บริโภคที่รักสวยรักงามกลายเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย เพราะเชื่อว่าสินค้าอะไรก็ตามที่มีตรา “อย.” ติดอยู่ แสดงว่าเป็นสินค้าที่ถูกต้อง จากวันนี้ต้องช่วยกันตรวจสอบว่าเป็น “หมายเลข อย.” ที่ถูกต้องจริงหรือไม่ รวมถึงผู้ที่พบเห็นสินค้าโฆษณาเกินจริง สามารถแจ้งได้ที่ “สายด่วน อย.1556”
 
 
 
---------------------
 
(เหยื่อ!...อาหารเสริมเพิ่มสูง? : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ