Lifestyle

แพทย์เตือนระวัง...ยาไมเกรนภัยร้ายใกล้ตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : แพทย์เตือนระวัง...ยาไมเกรนภัยร้ายใกล้ตัว

 
                      “ไมเกรน” หรือโรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นโรคที่พบได้บ่อยและรู้จักกันดีในคนทั่วไป ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่เกิดจากสมองมีความไวมากกว่าปกติ เวลามีสิ่งกระตุ้น เช่น นอนน้อย, มีความเครียด, อากาศเปลี่ยน, เจอแสงแดด ก็จะทำให้ระบบสมองหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมา ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเส้นประสาท รวมทั้งทำให้เกิดการคลื่นไส้และอาเจียนอีกด้วย ประมาณการว่าคนไทยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนมากถึง 8 ล้านคน ซึ่งส่วนมากมักจะซื้อยามารับประทานเอง ยาที่นิยมรับประทาน เนื่องจากเป็นยาที่ราคาไม่แพงและสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา คือ “ยาเออโกทามีน” (Ergotamine) หรือที่เรารู้จักในชื่อการค้าว่า “คาเฟอร์กอต” (Cafergot®)
 
                      สารเออร์กอต (Ergot) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของตัวยาเออร์โกทามีนนั้น ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยคนที่รับประทานธัญพืชหรือขนมปังที่มีการติดเชื้อราชนิดหนึ่งเข้าไป (Claviceps purpurea) แล้วเกิดอาการแสบร้อนและเกิดการเน่าที่ปลายมือ-ปลายเท้าจากการขาดเลือด ในปี ค.ศ. 1918 นักเคมี ชาวสวิส สามารถสกัดตัวยาเออร์โกทามีนออกมาจากสารเออร์กอตได้เป็นผลสำเร็จ ในปี ค.ศ.1925 ได้นำตัวยาเออร์โกทามีนมาใช้ในการรักษาไมเกรนได้เป็นผลดี จึงมีการใช้ยาเออร์โกทามีนมาใช้การรักษาไมเกรนอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวยาเออร์โกทามีน จะออกฤทธิ์ไม่จำเพาะเจาะจงในระบบประสาท โดยจะไปกระตุ้นตัวรับในสมองหลายชนิด ทำให้สารสื่อประสาทในสมอง เช่น สารซีโรโทนิน (serotonin), โดปามีน (dopamine), นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) มีการเปลี่ยนแปลง
 
                      รวมทั้งยังทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว ประเทศไทย มีตัวยาเออร์โกทามีนจำหน่ายในท้องตลาดอยู่หลายยี่ห้อ เช่น คาเฟอร์กอต (Cafergot®), อะวาไมแกรน (Avamigran®), เออร์โกเซีย (Ergosia®), โทฟาโก (Tofago®), โพลีกอต-ซีเอฟ (Poligot-CF®), ดีแกรน (Degran®) โดยในเม็ดยานั้นจะประกอบไปด้วยตัวยาเออร์โกทามีน และกาเฟอีน เพื่อเพิ่มการดูดซึมยา ซึ่งจากผลของตัวยาเออร์โกทามีนเอง จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียนได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาผู้ที่มีอาการไมเกรนร่วมกับอาการคลื่นไส้-อาเจียน อาจทำให้ความดันโลหิตสูง จากฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว
 
                      ในกรณีที่ใช้ยามากกว่า 10 เม็ดต่อเดือน อาจทำให้อาการปวดไมเกรนเป็นมากขึ้นได้ เรียกว่า ปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (Medication overuse headache) ผลกระทบจากยาอื่นๆ (drug interaction) เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressants), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาฆ่าเชื้อรา (Antifungals), ยาต้านไวรัสเอชไอวี, ยารักษาโรคจิต (Antipsychotics) เมื่อรับประทานกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ร่วมกับยาเออร์โกทามีน จะทำให้ระดับยาเออร์โกทามีนในร่างกายสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนเกิดเส้นเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้ สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด ปลายมือ-ปลายเท้าเน่าจากการขาดเลือดได้ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
 
 
 
ข้อห้ามในการใช้ยาเออร์โกทามีน
 
 
                      - ห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคเส้นเลือดตีบตันหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อเส้นเลือดตีบตัน เช่น ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมอง โรคเส้นเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดส่วนปลายผิดปกติ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว ทำให้เส้นเลือดตีบตันที่เป็นอยู่เดิม เกิดการตีบตันมากขึ้น จนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
 
                      - ห้ามใช้คู่กับยาแก้ปวดไมเกรน ชนิดทริปแทน (Triptans) เนื่องจากจะทำให้เส้นเลือดหดตัวอย่างรุนแรง
 
                      - ห้ามใช้ยาที่มีเออร์โกทามีน ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้แท้งบุตรได้
 
                      - ห้ามใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้
 
                      - ห้ามใช้ในผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ
 
 
                      ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนไม่บ่อย (น้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน) และไม่มีโรคประจำตัว หรือไม่ได้รับประทานยาชนิดอื่นๆ อยู่ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), ยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; Ibuprofen, Naproxen, Mefenamic acid, Diclofenac เป็นต้น), ยาเออร์โกทามีน, หรือ ยาในกลุ่มทริปแทนได้
 
                      การใช้ยาเออร์โกทามีนอย่างถูกต้องนั้น แนะนำให้ใช้ “เฉพาะเวลาปวดศีรษะไมเกรน” เท่านั้น การรับประทานติดต่อกันทุกวันเป็นการใช้ยาที่ผิด ยาชนิดนี้ไม่ควรรับประทานเกิน 3 เม็ดต่อสัปดาห์ หรือรับประทานต่อเนื่องมากกว่า 3 วัน เนื่องจากการรับประทานยาที่มากเกินไปนั้น นอกจากจะเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาแล้วยังทำให้เกิดอาการปวดศีรษะมากขึ้น ถ้าอาการปวดศีรษะยังไม่หายหลังจากรับประทานยา ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนจริงหรือไม่ รวมทั้งให้การรักษาอย่างเหมาะสม
 
                      ในกรณีมีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย (มากกว่า 2 ครั้งต่อเดือนหรือปวดรุนแรง) ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจมีความจำเป็นต้องได้รับ “ยาป้องกันไมเกรน” เพื่อควบคุมความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมทั้งยังทำให้ตอบสนองต่อยาแก้ปวดได้ดีมากขึ้น
 
 
 
เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์
 
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท
 
โรงพยาบาลกรุงเทพ
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ