
ชวนเที่ยว : เพลินดอกไม้ @ 'ทุ่งโนนสน'
01 พ.ย. 2558
ชวนเที่ยว : เพลินดอกไม้ @ 'ทุ่งโนนสน' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์
บ่อยครั้งของการเดินทางต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แบกเป้เดินเข้าไปค้างแรมในป่าลึก เพื่อแลกกับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกกว่าความสุข ที่มาจากการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ไร้ซึ่งแสงสีเสียงแห่งเมือง การเดินทางแบบนี้ บ้างก็เร่งรีบเพื่อให้ถึงปลายทางโดยเร็วเพราะเป้าหมายรออยู่ บ้างก็ว่า เบี้ยบ้ายรายทางนี่แหละคือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มปลายทางให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ... ทุ่งโนนสน ก็เช่นกัน
เมื่อก่อนพูดถึงทุ่งโนนสน มักพูดถึงระยะทางที่ค่อนข้างยาวไกล ที่ต้องเดินรวดเดียวให้ถึงโดยมีจุดหมายปลายทางเป็นทุ่งหญ้าแซมดอกไม้ปลายฝน แม้จะสวยงาม ก็ทำเอาหลายคนถอดใจกับระยะทางที่ต้องเดินเท้าร่วม 15 กม. แต่เดี๋ยวนี้สบายมาก เพราะเปลี่ยนเส้นทางขึ้นใหม่ ทำให้ย่นระยะทางเดินไปถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว
ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขา อยู่ในผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ด้วยเนื้อที่กว่า 789,000 ไร่ ในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง จ.พิษณุโลก กับ จ.เพชรบูรณ์ โดยอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงครอบคลุมท้องที่ อ.วังทอง, อ.นครไทย, อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.เขาค้อ กับ อ.วังโป่ง ของ จ.เพชรบูรณ์
แต่ก่อนนี้ จะไปทุ่งโนนสนที่ว่าเดินกันไกลๆ ก็เพราะไปขึ้นทางหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงนั่นเอง แต่ปัจจุบัน เส้นทางนั้นปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าแล้ว โดยเปิดเส้นทางใหม่ในระยะที่ใกล้กว่า เหลือระยะเดินเท้าแค่ราวๆ 8 กม.ขึ้นแทน นักท่องเที่ยวจะต้องไปตั้งต้นที่ หน่วยพิทักษ์ฯที่ สล.12 (บ้านรักไทย) อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
แค่เริ่มแรกของการเดินทาง ฉันก็นึกสนุกเสียแล้ว ด้วยเรื่องเล่าที่ทยอยออกมาจากปากพี่พินิจ เจ้าหน้าที่ขับรถที่พาเดินทางจากที่ทำการหน่วย สล.12 ไปจุดเริ่มเดินเท้า บ้านสุภา ระหว่างทางผ่านพื้นที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล สลับกันไปทั้งมันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา มะม่วง ลำไย ข้าวโพด โดยที่พื้นที่ทั้งหมดนี้ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
"พื้นที่ตรงนี้กันไว้ให้ราษฎรที่เคยช่วยรัฐต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่สมัยก่อน รวมถึงเหตุการณ์สู้รบบ้านร่มเกล้า เดี๋ยวเราก็ผ่าน “เนินลัดดา” ชื่อของผู้นำหญิงฝ่ายคอมมิวนิสต์สายหนึ่ง ที่นำกำลังมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพื่อยึดพื้นที่เนินเขาไม่ใหญ่ไม่โตนัก และเป็นจุดที่กำลังทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตกันเยอะมากรวมถึงลัดดาด้วย" พี่พินิจเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวสมัยเก่าก่อน ตอนสู้รบ “พอการสู้รบจบลง รัฐก็ให้ที่ดินชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ รวมถึงพวกที่กลับใจออกมาจากป่า คนละ 20 ไร่ โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามบุกรุกต่อ ห้ามซื้อขาย ห้ามทะเลาะเบาะแว้งกันถึงโรงถึงศาล ไม่เช่นนั้นจะยึดคืน เลยทำให้ชาวบ้านแถวนี้อยู่กันอย่างสงบสุข”
ระหว่างทางที่รถแล่นผ่านเนินลัดดา ฉันแอบบอกไม่ได้ว่า มันสำปะหลังแถวนี้งอกงามดี คนที่อยู่ตรงนี้คงคุ้นเคย แล้วความคิดเรื่องเนินลัดดาก็ตามติดฉันเข้าไปในราวป่า เมื่อรถมาส่งตรงจุดที่กำหนดเริ่มต้นเดินเท้า ผ่านต้นยางนา ต้นใหญ่ๆ รายทาง เป็นเหมือนประตูผ่านเข้าสู่อีกมิติ ที่เราต้องเริ่มพึ่งกำลังขาของเราเองแล้ว

ระยะเดินช่วงแรก เนินจิ๊บๆ แทบไม่รู้สึก จนถึงธารน้ำตกเล็กๆ ปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ เดินข้ามสบายๆ น้ำนิดเดียว ผืนป่าช่วงนี้ มีต้นไม้ใหญ่ให้เห็นชื่นใจ เข็มป่าสีม่วงออกดอกพราว ล่อผีเสื้อมาช่วยผสมเกสร ธรรมชาติใต้ร่มไม้ แสงแดดส่องแทบไม่ถึงพื้น ทำให้ระยะการเดินไม่เหนื่อยจนเกินไป แต่แค่ยังไม่ทันครึ่งทาง ก็เจอบททดสอบเรื่องแรงโน้มถ่วง ด้วยทางขึ้นเขาค่อนข้างชันมากๆ แม้จะเป็นช่วงไม่ยาวนัก แต่ก็เล่นเอาหยุดหอบไป 2 ยกทีเดียว เลยไปด้านบนเป็นจุดพักกลางทาง ให้นั่งพักเหนื่อยกันสักหน่อย แต่หยุดนานไม่มากไม่ได้ เพราะยุงดุเหลือเกิน
รายทางนอกจากไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ผีเสื้อ และดอกไม้ ยังมีจั๊กจั่นงวง ไต่อยู่ตามต้นไม้ สิ่งละอันพันละน้อย แค่นี้ก็ทำให้การเดินเท้าในป่าใหญ่รื่นรมย์ขึ้นมาได้ แต่หลังจากมื้อเที่ยง ตอนบ่ายกว่าๆ ฝนเริ่มโปรยลงมา ขณะที่ขาก็พาเราก้าวเข้าใกล้ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่บนเขาไปทุกขณะ
แล้วไม่นาน บริเวณที่เรียกกันว่า “ทุ่งโนนสน” ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า ต้นสนเรียงรายอยู่ในสายหมอก ดูสวยงาม แม้จะให้ความรู้สึกนึกไปถึงลานสนภูสอยดาว หรือภูกระดึง แต่ที่นี่ มันมีอีกอารมณ์ที่สอดแทรก เพราะลานทุ่งหญ้า กว้างๆ ตรงหน้า ยังไงก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว “กระดุมเงิน” กำลังออกดอกสะพรั่ง ทักทายอยู่ข้างทาง เราเดินตามๆ กันไป ตามทางเล็กๆ ชุ่มน้ำ ไปอีกราวๆ ไม่เกิน 200 เมตร ก็ถึงดงสนและต้นไม้ ที่กำหนดเป็นจุดตั้งแคมป์ของนักท่องเที่ยว จะมากี่กลุ่ม ก็ต้องมากางเต็นท์ ผูกเปลกันตรงนี้ที่เดียว
ระหว่างทางไปแคมป์ เห็นทั้งหยาดน้ำค้าง พืชกินแมลงที่มีหน้าตาสวยงาม อยู่ตามดินชุ่มน้ำ เป็นแพๆ ไป เหลืองพิศมรออกดอกสะพรั่ง เรียกความตื่นเต้น แต่หลังก้อนหินใหญ่ตรงแคมป์พักนี่สิ มีเยอะทั่วไปหมด เป็นกอๆ จนไม่ต้องเดินไปถ่ายรูปไกลๆ เลยเชียว
ฉันไม่ชอบดอกไม้ แต่ก็อยากบอกว่ามันช่างเป็นสวรรค์ของพวกชอบถ่ายรูปดอกไม้ ถ่ายมาโคร ซะจริงๆ เพราะดอกไม้ดินเล็กๆ เยอะ ขนาด ต้นเอนอ้า ที่นี่ ยังต้นกระจิ๋วหลิว สูงพอๆ กับต้นหญ้าเล็กๆ เลยเชียว แต่ถึงไม่มีดอกไม้ แค่ทุ่งหญ้าและป่าสนในสายหมอก ก็เป็นสวรรค์ย่อยๆ ของฉันได้แล้ว
รุ่งขึ้น ได้เวลาออกเดินเล่นให้ทั่วทุ่งโนนสน เจ้าหน้าที่ใจดี พาเดินซะทั่วจริงๆ ตั้งแต่แคมป์ เลาะทุกหญ้า เจอเอื้องม้าวิ่งเป็นกอใหญ่ๆ ไปจนถึงดงหงอนนาคกำลังออกดอก เลาะเข้าชายป่า ไปถึงก้อนหินใหญ่ที่มีต้นไม้อิงอาศัยจำพวกมอสและเฟิร์นเกาะพราว ข้ามกองหินใหญ่ไปอีกด้านหนึ่ง เจอกับเอื้องน้ำต้นและกล้วยไม้ป่าแปลกตาที่ฉันไม่รู้จักอีก 2 ชนิด รวมถึง สิงโตสมอหิน กำลังออกดอกพอดี อะไรจะโชคดีปานนี้ ...แม้จะรู้ตัวต่อมาว่า หลง จากฝั่งหนึ่ง เดินถึงอีกฝั่งหนึ่งที่เคยเป็นเส้นทางเก่าที่ขึ้นจากหน่วยฯ หนองแม่นา เลยต้องกลับมาตั้งต้นกลางทุ่งหญ้ากันใหม่ ก่อนจะจับทิศ แล้วมุ่งหน้าไปหาน้ำตกกลางป่าได้สมใจ กุหลาบแดงอาซาเรีย กำลังออกดอกอยู่ริมธารน้ำ เฟิร์นนาคราชฟิจิแถวนี้ก็เยอะ เลยตั้งแคมป์ กินข้าวเที่ยงกันแถวนี้แหละ แค่ไม่นานฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จากธารน้ำใสๆ กลายเป็นสีขุ้นข้น เชี่ยวกราก ก่อนจะเพิ่มปริมาณ จนยากจะก้าวข้าม
ข้ามน้ำกลับมาได้ เดินไปอีกนิดเดียว คราวนี้ก็ร้อง ว้าวว กันอีกครั้ง ทุ่งดุสิตา ที่ออกดอกเยอะๆ อยู่แถวนี้เอง มีเป็นดง รวมถึงหญ้าข้าวก่ำดอกเล็กๆ กระจายตัวอยู่ไม่ไกลกัน กว่าจะพาตัวเองออกจากจุดนั้น ข้ามผ่านทุ่งหญ้าใหญ่ ที่มีกระถินทุ่ง หรือดอกกุง ออกดอกสีเหลืองตัดกับดอกหญ้า กลับมาที่พัก ก็ปาเข้าไปนานโข แม้ดอกไม้ดินจะไม่มากมาย ถ้าเทียบกับดงดอกไม้ดินขึ้นชื่อที่อื่นๆ แต่ ทุ่งโนนสน กลับเต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชพันธุ์ ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
บอกแล้วไง ...ฉันไม่ใช่คนชอบดอกไม้ !!
----------------------
การเดินทาง : ใช้เส้นทาง อ.ตากฟ้า- อ.เนินมะปราง แยกไปทาง อ.วังทอง สังเกตป้ายทุ่งโนนสน เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางอีกราว 35 กม. ผ่านบ้านรักไทย ไปอีกไม่ไกล ก็ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สล.12 อยู่ด้านขวามือ ติดต่อ : หน่วยพิทักษ์ฯ สล.12 (บ้านรักไทย) 09-3130-9397 (หัวหน้าไพบูลย์)
----------------------
(ชวนเที่ยว : เพลินดอกไม้ @ 'ทุ่งโนนสน' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)