
'สบู่สมุนไพร' บ้านท่าหัวลบ ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ชุมชน
16 ต.ค. 2558
ทำมาหากิน : 'สบู่สมุนไพร' บ้านท่าหัวลบ ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ชุมชน : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล
ความรักความสนใจในเรื่องของสมุนไพรไทยมาแต่วัยเยาว์เป็นแรงผลักให้ น.ส.ลัดดา ทองอาบ วัย 38 ปี ขอการสนับสนุนจากภาครัฐตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ สร้างงานสร้างเงินให้ชุมชน ด้วยการร่วมกันผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในโหมดเครื่องสำอาง ที่ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก
ลัดดา ทองอาบ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรบ้านท่าหัวลบ ตั้งอยู่เลขที่ 237 หมู่ 5 บ้านท่าหัวลบ ต.วังไคร้ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เล่าให้ฟังถึงที่มาของกลุ่มว่า เริ่มจากตนสนใจเรื่องของสมุนไพรมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาเมื่อปี 2555 องค์การบริหารส่วนตำบลวังไคร้ (อบต.) มีนโยบายส่งเสริมให้มีการตั้งกลุ่มอาชีพ ตนจึงรวบรวมสตรีในหมู่บ้าน 15 คน ตั้งกลุ่มขึ้นแล้วเขียนโครงการขอสนับสนุนงบจาก อบต.ทำสบู่สมุนไพรจำหน่าย โดยใช้สมุนไพรในท้องถิ่น อาทิ มังคุด มะนาว มะขาม ขมิ้น ว่านหางจระเข้ มาเป็นวัตถุดิบหลักผลิต เริ่มจากทำเองใช้กันเอง แล้วค่อยๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานจำหน่าย กระจายไปยังที่ต่างๆ
โดยวิธีทำนั้น ลัดดาบอกว่าไม่ยาก ส่วนผสมคือกลีเซอรีน และน้ำสมุนไพร จากนั้นนำกลีเซอรีนขึ้นนึ่งด้วยไอน้ำให้ละลายเองโดยไม่ต้องคน นำมากรอง แล้วเอาน้ำสมุนไพรผสมลงไป ใส่น้ำผึ้งนิดหน่อยเพื่อใช้บำรุงผิว แต่งกลิ่นด้วยน้ำหอม แล้วนำไปเทในแบบพิมพ์ซึ่งมีขนาด 30 กรัม 50 กรัม ทิ้งไว้ให้แห้ง นำมาตกแต่งให้เรียบร้อยแล้วห่อบรรจุภัณฑ์ขาย
สนนราคา ก้อนขนาด 30 กรัม ขาย 25 บาท ก้อนขนาด 50 กรัม ขาย 35 บาท ซื้อ 3 ก้อน 100 บาท ก้อนขนาด 100 กรัม ขายก้อนละ 50 บาท โดยสบู่ที่ผลิตนอกจากจะขายในกลุ่มแล้วยังขายทางเฟซบุ๊กและทางไลน์ รวมทั้งออกร้านตามงานต่างๆ
น.ส.พรงาม กิจเกตุ อายุ 31 ปี สมาชิกกลุ่ม อยู่ที่ 173 หมู่ 5 บ้านท่าหัวลบ กล่าวว่า เป็นสมาชิกกลุ่มมาตั้งแต่เริ่มต้นเพราะเห็นว่าในพื้นที่มีสมุนไพรมาก หากนำมาทำสบู่ขายจะสามารถสร้างงาน สร้างเงินได้ รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้ตำบลวังไคร้ด้วย ปัจจุบันมีรายได้จากกลุ่มเฉลี่ยเดือนละ 300-500 บาท ถึงจะไม่มากแต่ก็ภูมิใจ เงินจำนวนนี้นำมาใช้จ่ายซื้อของที่ฉันอยากได้" น.ส.พรงาม กล่าว
เช่นเดียวกับ น.ส.นกเล็ก จันทร์ประไพ อายุ 44 ปี สมาชิกกลุ่ม อยู่ที่ 223 หมู่ 5 บ้านท่าหัวลบ กล่าวว่า เข้าร่วมกลุ่มเมื่อปี 2555 เพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีรายได้เสริม โดยบอกว่ามีรายได้จากการเข้าร่วมกลุ่มเดือนละ 300-500 บาท ถึงรายได้จะไม่มากแต่ก็ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
ด้านนายประไพ สุขอนันต์ พัฒนาการอำเภอท่ายาง กล่าวถึงการเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรบ้านท่าหัวลบ ว่าเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ว่าส่วนผสมที่นำมาใช้มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน โดยให้ผ่านมาตรฐาน อย. และมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
การรวมกลุ่มผลิตสบู่สมุนไพรจำหน่ายของกลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรบ้านท่าหัวลบ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งนำวัตถุดิบซึ่งเป็นสมุนไพรที่อยู่ใกล้ตัวมาสร้างมูลค่า ถึงแม้วันนี้ยอดขายจะไม่มากแต่วันหน้าอาจเติบโตเป็นธุรกิจร้อยล้านก็ได้ใครจะรู้!
--------------------
(ทำมาหากิน : 'สบู่สมุนไพร' บ้านท่าหัวลบ ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ชุมชน : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล)