
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
วันนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของความสุขว่า สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี นี้ตรงกับพระพุทธดำรัส (ขุ. ธ. ๒๕/๒๕/๔๒) ว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
เรื่องความสุข ใครๆ ก็ปรารถนาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางกาย ชื่อว่า กายิกสุข และทั้งความสุขทางใจ ชื่อว่า เจตสิกสุข
ไม่มีใครปรารถนาความทุกข์ เดือดร้อน ทั้งทางกายและทางใจเลย
“ความสุข” คือ ความสบายกาย / หรือความสบายใจ นี้มี ๒ อย่าง คือ “สามิสสุข” คือ ความสุขอิงอามิส กล่าวคือ ความสุขที่อาศัยกามคุณ ได้แก่ ความสุขที่เกิดแต่การได้รับ หรือได้ยินได้ฟัง
ได้สัมผัส ได้ใช้สอย รูป-เสียง-กลิ่น-รส และสิ่งสัมผัสทางกายที่ชอบใจ ที่น่ากำหนัด ยินดี พอใจต่างๆ เป็นต้น นี้ประการหนึ่ง
กับ “นิรามิสสุข” คือ ความสุขที่ไม่อิงอามิส กล่าวคือ ไม่อาศัยกามคุณ ความสุขนี้เป็นความสุขที่อิงเนกขัมมะ คือ ความสุขที่ปลีกจาก หรือพ้นจากกามคุณเครื่องเย้ายวนล่อใจ ก็เป็นสุขได้ นี้อีกประการหนึ่ง
“สามิสสุข” คือความสุขที่อิงอามิส กล่าวคือ ความสุขที่อาศัยกามคุณ ได้แก่ ความสุขที่พระท่านเรียก “สุขเวทนา” อันเกิดแต่การได้พบเห็น ได้ยินได้ฟัง ได้กลิ่น ได้รส และได้สัมผัส รูป-เสียง-กลิ่น-รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ที่น่าเพลิดเพลิน น่ากำหนัดยินดี พอใจ
ในขณะเดียวกัน สุขเวทนาที่อิงอามิสนั้นแหละ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุนำเหตุหนุนให้ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ และประกอบกรรมชั่ว หรือบาปอกุศล ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนได้อีก
จึงเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร เพราะเป็นความสุขที่ยังมีโอกาสกลับเป็นทุกข์ได้อีก
ส่วน “นิรามิสสุข” เป็นความสุขที่ไม่อิงอามิส คือ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกามคุณ แต่อาศัยเนกขัมมะ คือ การปลีกออกจากกามคุณ หรือเป็นอิสระจากกามคุณ จึงไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่จะเป็นเหตุนำเหตุหนุนให้กระทำกรรมชั่ว หรือบาปอกุศล ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนได้อีก
ความสุขอันเกิดแต่ความสงบจากกรรมชั่ว และ/หรือ อันสงัดจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน เช่นนี้ ย่อมเป็นความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร คือ เป็นความสุขที่ไม่มีเหตุปัจจัยให้กลับเป็นทุกข์ได้อีก
"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"