ไลฟ์สไตล์

ลดต้นทุนผลิตปาล์มรับเออีซี

ลดต้นทุนผลิตปาล์มรับเออีซี

25 ก.ย. 2558

ทำกินถิ่นอาเซียน : ลดต้นทุนผลิตปาล์มรับเออีซี : โดย...อาหมัด เบ็ญอาหวัง

 
                       ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในอาเซียนที่จะมีการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอีก 97 วันข้างหน้า โดยประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด ตามด้วยประเทศไทย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีประเทศใหม่ๆ ที่นักลงทุนไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน อาทิ ทางภาคใต้ของเมียนมาร์ และกัมพูชา
 
                       ไทยกำลังประสบปัญหาสองเด้งครับ คือเด้งแรกสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ล่าสุดในสัปดาห์นี้ ราคาผลปาล์มทะลายอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.70-4.00 บาทเท่านั้น อีกเด้งหนึ่งต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับสมาชิกประเทศในเออีซี ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2558 นี้ คือปัจจุบันต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.30 บาท หรือไร่ละประมาณ 11,500 บาท เนื่องเพราะจากส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีเชิงเดี่ยวที่มีราคาแพง และมีการใช้ปริมาณมากในสวนปาล์ม รวมถึงค่าจ้างแรงงานด้วย ทำให้เกษตรกรขาดทุนหรือได้กำไรน้อย
 
                       ทำให้กรมวิชาการเกษตรต้องหาแนวทางและวิธีลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรนำไปใช้ในการพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรของไทยในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะมีการแข่งขันเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น
 
                       เบื้องต้น ท่านอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มีหลายวิธี คือเลือกใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอราพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก และซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อาทิ พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีให้เลือก 8 พันธุ์ ได้แก่ ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 และลูกผสมสุราษฎร์ธานี 84-8 ซึ่งให้ผลผลิตสูงตั้งแต่ไร่ละ 2.94-3.64 ตันต่อปี ทั้งยังให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันถึง 23-27% ทั้งนี้เกษตรกรต้องมีการจัดการปุ๋ยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย
 
                       อีกแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ด้วยการจัดระบบปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนสวนเดิม โดยการปลูกกล้าปาล์มน้ำมันอายุ 12 เดือน แซมเข้าไป 100% จากนั้นให้ตัดต้นปาล์มน้ำมันเดิมลง 50% หลังย้ายปลูก 6 เดือน ตัดให้ครบ 100% หลังย้ายปลูก 24 เดือน ก็จะได้พันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า
 
                       นอกจากนี้ ให้ใช้เทคโนโลยีในการที่ให้น้ำปาล์มน้ำมันในช่วงแล้ง หรือเมื่อมีปัญหาฝนทิ้งช่วง จะช่วยให้ได้ผลผลิตสูงกว่าปาล์มน้ำมันที่อาศัยเฉพาะน้ำฝน โดยปาล์มน้ำมันที่อาศัยเฉพาะน้ำฝนจะได้ผลผลิตประมาณไร่ละ 2.5 ตันต่อไร่ ขณะที่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับน้ำในช่วงแล้งจะให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 4.3 ตันต่อปี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันตามมาตรฐานทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
 
                       หากเกษตรกรสนใจในการที่จะลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี โทร.0-7727-4025-6, 0-7725-9146 หรือสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน โทร.0-2579-3930-3 ครับ!
 
 
 
 
---------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : ลดต้นทุนผลิตปาล์มรับเออีซี : โดย...อาหมัด เบ็ญอาหวัง)