
ป.โทไซเบอร์ม.รังสิตล้อมคอก'แฮ็กเกอร์'
ป.โทไซเบอร์ม.รังสิตล้อมคอก'แฮ็กเกอร์' : ทีมข่าวการศึกษารายงาน
วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต จับมือ เอซิส บริษัทชั้นนำในการให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างสรรค์สังคมไซเบอร์และส่งเสริมความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ
ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เกษมสันต์ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงที่มาของการเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Master of Science in Cybersecurity Management) ว่า แรกเริ่มทางวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.รังสิต ได้มีโอกาสจัดสัมมนาเรื่อง ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ร่วมกับ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย (สปท.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการแฮ็กข้อมูล โดยผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่โดนแฮ็กข้อมูลเป็นอันดับสองของโลก
ภายหลังจากการจัดสัมมนาได้มีการพูดคุยกันว่าประเทศไทยต้องการทรัพยากรบุคคลทางด้านนี้จำนวนมาก จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ บริษัทเอซิส บริษัทชั้นนำในการให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ร่วมกันผลิตบุคลากรโดยเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขึ้น โดยบริษัทเอซิส และ
วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกันร่างหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
โดยพิจารณาร่วมกันถึงสิ่งที่บุคลากรด้านนี้จะต้องเรียนรู้และสามารถนำไปปฏิบัติงานเพื่อป้องกันข้อมูลในองค์กรและใช้งานด้านไซเบอร์ได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะสิ่งสำคัญของการเปิดหลักสูตรคือความต้องการที่จะผลิตบัณฑิตให้ได้วิชาความรู้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ทางวิชาการจากคณาจารย์ผู้สอน และชำนาญด้านทักษะ ซึ่งได้จากผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง
“การที่เราเปิดหลักสูตรนี้ในระดับปริญญาโทเพราะเรามั่นใจในความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยมีการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ ในระดับปริญญาตรีที่หลากหลาย อาทิ คอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย สารสนเทศการแพทย์ สารสนเทศการลงทุน ระบบสารสนเทศเอ็นเทอร์ไพรส์ เทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ความเข้มแข็งตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่ด้านวิชาการ แต่เราสามารถผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เนื่องจากทางวิทยาลัยมีความร่วมกับบริษัทไอทีชั้นนำกว่า 20 แห่งในการส่งนักศึกษาไปฝึกงานและสหกิจศึกษา สร้างบัณฑิตให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และนำมาต่อยอดในการเปิดหลักสูตรปริญญาโท รวมทั้งหลักสูตรดังกล่าวนี้ด้วย” ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร กล่าว
ด้านอาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้อำนวยการศูนย์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในนามบริษัทเอซิส ซึ่งมีส่วนร่วมในการเปิดหลักสูตร กล่าวเสริมว่า การป้องกันข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ บุคลากรที่ดูแลงานด้านนี้จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลองค์กรรั่วไหล และสำหรับประเทศไทยเองยังถือว่าขาดแคลนบุคลากรสายงานด้านนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ทางบริษัทได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบัณฑิต
“โดยนำความรู้ ทักษะจากการดำเนินงานจริงมาใช้ เพื่อพัฒนาให้ประเทศของเรามีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในเรื่องของการดูแลข้อมูลสารสนเทศเพิ่มขึ้นและสามารถปฏิบัติงานได้ตามหลักสากลทั่วไป” อาจารย์ปริญญา กล่าว
อาจารย์ปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่สนใจเบื้องต้น ควรมีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี นอกเหนือจากนี้จะใช้วิธีการเรียนรู้ทั้งในส่วนของวิชาการในห้องเรียนและทักษะการปฏิบัติงานจริงจากบริษัท ซึ่งจะเข้ามาดูแลทักษะต่างๆ อย่างเข้มข้น
“ทั้งนี้ ภายหลังผู้เรียนสามารถสอบใบรับรองระดับสากลด้าน Information Security (CISSP, CISA, CASP, CISM, CSX) มีโอกาสได้ศึกษาแนวปฏิบัติผ่านระบบจำลองยุทธศาสตร์ทางไซเบอร์ รวมทั้งทุนสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัย โดยหลักสูตรดังกล่าวเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” อาจารย์ปริญญา ฝากทิ้งท้าย...