ไลฟ์สไตล์

'43ปีเอเชียอาคเนย์'ก้าวสู่'มหาวิทยาลัยคุณธรรม'

'43ปีเอเชียอาคเนย์'ก้าวสู่'มหาวิทยาลัยคุณธรรม'

07 ก.ย. 2558

'43ปีเอเชียอาคเนย์'ก้าวสู่'มหาวิทยาลัยคุณธรรม' : กมลทิพย์ ใบเงินรายงาน

            มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (SOUTHEAST ASIA UNIVERSITY : S.A.U.) หรือ ม.อ.อ. เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เดิมมีชื่อว่า “วิทยาลัยเอเชียอาคเนย์” ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเอกชน พ.ศ.2512 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2516 หรือเมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา มี “นายพลกฤษณ ประโมทะกะ” หลานชาย “คุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง โดย วันที่ 12 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันคล้ายวันสถาปนาสถาบัน” จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการสำนึกในกุศลเจตนาของ “คุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว” ผู้อุทิศที่ดินก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ที่ถึงแก่กรรมในวันดังกล่าว
 
            นายพลกฤษณ ประโมทะกะ ร่วมกับ นายชิด ทองประยูร และนายวรัญญู กันภัย เห็นพ้องว่า “สถานศึกษาเท่านั้นที่จะเป็นถาวรสถานที่มั่นคง และคงอยู่ตลอดไปในทุกสถานการณ์ เป็นแหล่งสร้างความรู้ สร้างคน และสร้างงานบริการแก่สังคม อันก่อให้เกิดมหากุศลตามเจตนารมณ์ของ คุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว ผู้ล่วงลับ"
 
            ต่อมามีการขอเปลี่ยนชื่อผู้รับอนุญาตจัดตั้ง “วิทยาลัยเอเชียอาคเนย์” จาก นายพลกฤษณ ประโมทะกะ เป็น “มูลนิธิคุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว” โดยย้ายสำนักงานมูลนิธิมาตั้งที่สถานศึกษาจนถึงปัจจุบัน และดำเนินการเรียนการสอน การให้บริการทางวิชาการแก่เยาวชนและสังคมด้วยความมุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับอนุญาตเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2535 มี นายพลกฤษณ ประโมทะกะ ประธานมูลนิธิคุณย่าแปลกฯ เป็นนายกสภา ม.อ.อ.คนแรก ตามด้วย “นายประเสริฐ สมะลาภา” นายกสภา ม.อ.อ.คนต่อมา และล่าสุด “นายเสริมสิน สมะลาภา” นายกสภา ม.อ.อ.คนปัจจุบัน
 
            “ผมมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาท่านสู่การเป็นบัณฑิตที่มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติ มีคุณธรรม มีทักษะ มีความรู้ ความสามารถ ในสังคมโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง” ถ้อยคำนี้มาจากสารของ “นายเสริมสิน สมะลาภา” นายกสภา ม.อ.อ.
 
            สอดคล้องกับสารจาก "ผศ.ฉัททวุฒิ พืชผล" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ สมัยที่ 2 วัย 44 ปี ที่ระบุว่า "ม.อ.อ.มีเจตนาที่จะผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตให้เป็นผู้รู้จักการค้นคว้าความรู้ มีคุณธรรม และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ ด้วยความเข้าใจได้อย่างเหมาะสม” *ผศ.ฉัททวุฒิ เล่าว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยคุณธรรมตามกระแสพระราชดำรัส โดยแนวทางได้รับมาจากท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ซึ่งท่านได้ร่วมทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร ซึ่งทางคุณประเสริฐ สมะลาภา ประธานมูลนิธิ และคุณเสริมสิน สมะลาภา นายกสภามหาวิทยาลัย ก็เห็นพ้องในแนวทางและเป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างโครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้
 
            “ม.อ.อ.ก้าวสู่ปีที่ 43 ตั้งเป้าให้เป็นมหาวิทยาลัยคุณธรรม ตามกระแสพระราชดำรัส ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากผลการการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นหนังสือพุทธธรรมฉบับดิจิทัล ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) พุทธธรรมฉบับดิจิทัลนี้ มีเนื้อหาที่สมบูรณ์เหมือนฉบับจริงและเป็นฉบับปรับขยายที่มีความหนากว่า 1,260 หน้า แต่จะให้ความสะดวกในการสืบค้นพกพา สามารถเปิดอ่านได้ทุกที่ ทุกเวลา” *ผศ.ฉัททวุฒิ กล่าวด้วยว่า ผลงานชิ้นนี้นับเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ก็คือการเผยแพร่และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนายกสภามหาวิทยาลัย คุณเสริมสิน สมะลาภา โดยมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจจะเผยแพร่ผลงานชิ้นเอกของท่านพระธรรมปิฎกนี้สู่สาธารณชน และคนรุ่นใหม่ให้ได้รับความรู้ และความเข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
 
            เหนืออื่นใดมูลนิธิคุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว เน้นเรื่องพุทธศาสนา ที่ ม.อ.อ.มีต้นศรีพระมหาโพธิ์นำมาจากประเทศอินเดีย และด้านหลังมหาวิทยาลัยมีสถาบันพลังจิตตานุภาพ โดยพระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) สาขานี้มีคนมาเรียนสมาธิกว่า 1,000 คน นับว่าใหญ่มากรองจากวัดธรรมมงคล *ด้านวิชาการ ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรปริญญาโท ได้แก่ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ล่าสุดเปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เอก Internet of Things หรือ IOT
 
            ผศ.ฉัททวุฒิ กล่าวอีกว่า หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เอก Internet of Things หรือ IOT ผลิตวิศวกร IOT แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อรองรับยุคอินเทอร์เน็ตครองโลก เป็นก้าวสำคัญในการผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับอนาคต โดยหลักสูตรได้รับการปรับปรุงปรึกษาโดยอาจารย์จากสถาบันชั้นนำของโลก อาทิ Massachusetts Institute of Technology, Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกด้าน Software Engineering หรือ Sun Yatsen University มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน เน้นการให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงการนำอุปกรณ์ชุดพัฒนาที่นำสมัย หลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เครื่องมือจริง ลงมือจริง และเป็นชุดฝึกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ IntelGalileo? ArduinoRaspberry Pi และอื่นๆ มาใช้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ใช้งาน ทำงานได้จริง โดยผู้จบวิศวกรรมศาสตร์ เอก Internet of Things ของ ม. เอเชียอาคเนย์จะมีตลาดรองรับมากมายและเป็นที่ต้องการของโลกอนาคตอย่างแท้จริง
 
            “อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทำงานในทุกองค์กร รวมถึงการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในทุกด้าน เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก การเรียนในระดับพื้นฐานของวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ทั่วไปจึงต้องปรับเปลี่ยน เราต้องการผลิตบัณฑิตที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากทรัพยากรบนอินเทอร์เน็ตที่หลากหลาย อาทิ Open Courseware, Crowd Sourcing, Open Source Technology and Platform, Crowd Funding, Cloud Computing, Massive Online Open Courseware เพื่อที่นักศึกษาจะได้สามารถนำเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้เลือกใช้มากมายไปใช้สร้างแนวคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในระดับสากลในเวลาอันรวดเร็ว” *ที่สำคัญหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียน ด้วยการสร้างความก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยีและด้านการศึกษา ให้มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ในโลกนี้จะมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง และเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด ซึ่งจะปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ของเราไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคตอันใกล้นี้
 
            "ผมตั้งใจ 4 ปีที่นักศึกษาเรียนอยู่กับ ม.อ.อ.ต้องอัดแน่นภาษาอังกฤษให้นักศึกษา ด้วยความร่วมมือกับครูแนนแห่งเอ็นคอนเส็ปท์ เด็กจะเก่งภาษาสามารถสื่อสารได้ ขณะเดียวกันเน้นให้อาจารย์ทำวิจัยการสอน ซึ่งบุคลากรทั้ง 400 คน ต้องปรับตัวรับประชาคมอาเซียน เช่นเดียวกันนักศึกษากว่า 9,000 คน ที่ใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนบนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์" *สนใจเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ตั้งอยู่เลขที่ 19/1 ถนนเพชรเกษม (ใกล้ซอยเพชรเกษม 108 อยู่ระหว่าง กม.18-19) แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร 10160 โทร.0-2807-4500-27 หรือเยี่ยมชม Website:www.sau.ac.th