ไลฟ์สไตล์

อีกก้าวของ'ถิรพิทย์ เล็กเจริญ'พา'บลูฟาโล่'สู่มาตรฐานจีเอ็มพี

อีกก้าวของ'ถิรพิทย์ เล็กเจริญ'พา'บลูฟาโล่'สู่มาตรฐานจีเอ็มพี

03 ก.ย. 2558

หนักเอาเบาสู้ : อีกก้าวของ 'ถิรพิทย์ เล็กเจริญ' พา 'บลูฟาโล่' สู่มาตรฐานจีเอ็มพี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                      การเติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคงจนได้รับการรับรองมาตรการจีเอ็มพี ของบริษัท บลูฟาโล่ จำกัด ผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากฝีมือนักบริหารหนุ่มไฟแรงทีี่ชื่อ ถิรพิทย์ เล็กเจริญ ในฐานะผู้จัดการโรงงานบลูฟาโล่ ซึ่งมีความโดดเด่น หลังได้ก่อตั้งบริษัทด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล และมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง รวมถึงการติดตั้งเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เป็นอย่างดี ได้เล็งเห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ จึงได้เริ่มก่อตั้งบริษัท บลูฟาโล่ จำกัด ในปี 2554 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 1 ปี ได้ดำเนินการทดลองเดินเครื่องจักรในเดือนตุลาคม 2555 และเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
                      สำหรับสินค้าที่ผลิตนั้นมีทั้งอาหารสัตว์เศรษฐกิจ และอาหารสัตว์เลี้ยง โดยแบ่งตามประเภทได้ดังนี้อาหารสัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ อาหารสุกร อาหารไก่ชน อาหารปลา ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสุนัข อาหารแมว อาหารนก อาหารหนูแฮมสเตอร์ อาหารกระต่าย และอาหารปลาสวยงาม
 
                      ถิรพิทย์ได้กล่าวถึงที่มาความสำเร็จในการดำเนินงานของบริษัทว่า ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรที่ไม่ทันต่อการเจริญเติบโตขององค์กร อีกทั้งระบบการจัดการงานส่วนต่างๆ ยังไม่ค่อยเป็นระบบ พนักงานในไลน์การผลิตส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในระบบจีเอ็มพี  การจัดการและวางระบบภายในโรงงานบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับระบบจนกระทั่งได้ขอรับบริการจากกิจกรรมการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษา เพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาดและการบริการ (Consultancy Fund) หรือ CF ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งที่ปรึกษามาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดทำระบบ จึงทำให้ขั้นตอนการทำงานมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารตามมาตรฐานจีเอ็มพีที่กำหนด
 
                      หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมซีเอฟแล้ว บริษัทได้มีการพัฒนาปรับปรุงด้านต่างๆ คือ พนักงานมีความรู้และตระหนักเกี่ยวกับระบบ "หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP-Good Manufacturing Practice) ซึ่งลดการปนเปื้อนต่างๆ ที่จะเกิดกับผลิตภัณฑ์ได้ มีการปรับปรุงโครงสร้างภายในโรงงาน สอดคล้องตามระบบจีเอ็มพี เช่น มีการกำหนดเส้นทางการเข้าออกไลน์การผลิตชัดเจนขึ้น มีการติดตั้งม่านป้องกันแมลงที่ทางเข้าไลน์การผลิตทุกจุดมีการจัดการสัตว์พาหะ เป็นต้น
 
                      อย่างไรก็ตามจากการที่บลูฟาโล่ เข้าร่วมกิจกรรมทำให้บริษัทได้รับประโยชน์และประสบความสำเร็จและได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี เมื่อเดือนมกราคม 2558 จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากบริษัทมีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ สร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวมาจากนักบริหารหนุ่มคนนี้ที่ชื่อ “ถิรพิทย์ เล็กเจริญ”
 
 
 
 
 
---------------------
 
(หนักเอาเบาสู้ : อีกก้าวของ 'ถิรพิทย์ เล็กเจริญ' พา 'บลูฟาโล่' สู่มาตรฐานจีเอ็มพี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)