
กรมชลฯผนึกมข.ดึงชาวบ้านร่วมศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำ
25 ส.ค. 2558
กรมชลฯผนึกมข.ดึงชาวบ้านร่วมศึกษา พัฒนาลุ่มน้ำ ห้วยหลวงตอนล่าง ทั้งระบบ : บายไลน์...สุรัตน์ อัตตะ
กรมชลประทานจับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำร่องศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างครบวงจร พร้อมดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน มั่นใจตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นทั้งระบบ และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานต่อไป
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยระบุว่ากรมชลประทานร่วมกับสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำสามพร้ามไปจนถึงปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองอุดรธานี อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.สร้างคอม และ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย รวม 2,160 ตร.กม.
ทั้งนี้ในการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงดังกล่าวได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2557 มีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน เพื่อศึกษาข้อมูกลให้ครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมการบริหารจัดการของประตูระบายน้ำห้วยหลวง เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำเมื่อสิ้นฤดูฝน โดยมิให้เกิดผลกระทบในยามฤดูน้ำหลาก ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนสามารถนำไปใช้ในการจัดการทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นหลักการที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอน
ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกล่าวต่อว่า สำหรับประตูระบายน้ำห้วยหลวงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างระหว่างปี 2534-2545 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้น ต่อมาในปี 2546 ได้ถ่ายโอนภารกิจมาให้กรมชลประทาน แต่ก็ยังเปิดใช้งานได้ไม่เต็มตามศักยภาพตามที่ออกแบบไว้ เนื่องจากยังคงมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัญหาการจัดซื้อที่ดิน ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมชลประทานจึงให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างให้ครอบคลุมทั้งระบบ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาแบ่งเป็น 6 กลุ่มโครงการด้วยกัน ประกอบด้วย 1.โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง 2.โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำและพัฒนาแก้มลิงดงสระพัง 3.โครงการประตูระบายน้ำหนองสองห้อง 4.สถานีสูบน้ำถ่อนนาเพลิง 5.สถานีสูบน้ำห้วยหลวง-คลองดัก และ 6.สถานีสูบน้ำบ้านนาคำและสถานีระบายน้ำดอนกลอย-หนองบัว
“โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างนี้ เป็นการศึกษาโดยจะดูปัญหาทั้งระบบว่าเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน มีขอบเขตของปัญหาอย่างไร และประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อะไรที่แก้ได้ อะไรที่แก้ไม่ได้ เพื่อจะนำไปสู่การจัดทำแผนที่ถูกต้องและแม่นยำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อใช้ในการทำเกษตร ดังนั้นการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำในนานที่สุด ถือเป็นแนวทางสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำของรัฐบาลด้วยเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น
ขณะที่ ศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า สำหรับในพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดอีสานตอนบน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสกลนครนั้น มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานค่อนข้างน้อยประมาณ 1.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 14 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาเรื่องน้ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขและบรรเทาปัญหา ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ กรมชลประทานจึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว
“การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำระยะเร่งด่วน ขณะนี้มีทั้งหมด 349 โครงการ แบ่งเป็นงบปี 58 จำนวน 46 โครงการ และงบปี 59 จำนวน 303 โครงการ ส่วนระยะกลางและระยะยาวมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง ถือเป็นลำน้ำสำคัญมากในพื้นที่อีสานตอนบน ลุ่มน้ำห้วยหลวงแต่ละปีมีปริมาณน้ำท่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. แต่สามารถเก็บกักได้เพียง 300 ล้านลบ.ม.เท่านั้น” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 กล่าวทิ้งท้าย
การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างครบวงจรนับเป็นอีกโครงการที่จะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบครอบคลุมพื้นที่อีสานตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคการเกษตรที่มีปัญหาทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง