
สะโหลดหลวง เสียงเพรียกจิตวิญญาณของลัวะ(มัล-รฺ)
23 ส.ค. 2558
ถิ่นไทยงาม : สะโหลดหลวง เสียงเพรียกจิตวิญญาณของลัวะ(มัล-รฺ) : เรื่อง / ภาพ ... สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์
วลีจากบทเพลงที่ว่า “ภูบ่สูง แต่ห้วยมันลึก” ก็คือภาพของบทเพลงที่สะท้อนมาจากดินแดนดอยสูงใน จ.น่าน สะท้อนบทวิถีชนเผ่าชาวเขาเผ่าหนึ่ง คือ ชนเผ่าลัวะ มีถิ่นฐานอยู่บนดอยในเขต จ.น่าน มาช้านาน ซึ่งพวกเขาไม่เคยย่อท้อความยากลำบาก แม้ว่าพื้นที่ทำกินจะอยู่ตามดอยสูงชัน
ขบวนแห่ตีพิห์
ชนเผ่าลัวะใน จ.น่าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมมาตั้งแต่โบราณ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ตามดอยสูงของจังหวัด ได้แก่ ดอยภูคา ดอยภูแว ขุนน้ำปัว ขุนน้ำน่าน ขุนน้ำยาว รวมไปถึงเขตเทือกเขาแดนลาวด้วย
ชาติพันธุ์บนดอยสูงที่ยังดำรงชีพแบบพึ่งพาธรรมชาติ ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชผักต่างๆ ก็ใช้เกษตรกรรมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่จัดว่าเป็นพืชสำคัญ เป็นอาหารของครอบครัว แต่ละปีต้องปลูกข้าวเพียงพอ และต้องให้มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นแต่ละบ้านจึงต้องมีการทำขวัญข้าวที่เริ่มปลูกใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน ที่เรียกว่า สะโหลด จึงกลายเป็นประเพณีสืบทอดมาทุกวันนี้ ที่เรียกว่า งานกินสะโหลด ที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องทำกันอย่างพร้อมเพรียง
พิห์กระบอกขนาดใหญ่ จะให้เสียงเบส เสียงทุ้มกังวาล
พิธีสะโหลด จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ข้าวกำลังยืนต้นอย่างแข็งแรง เป็นการทำขวัญข้าวเพื่อให้ผลผลิตข้าวได้รับความอุดมสมบูรณ์ เพราะขวัญข้าวจะได้รับการดูแลเซ่นไหว้เป็นอย่างดี ขั้นตอนการทำต้องมีผู้นำการจัดทำพิธี คือ เคาจ้ำ หมายถึง หมอผี จะเป็นผู้สื่อกลางระหว่างผีจารีต หรือเจ้าขวัญที่ กับชาวบ้าน จะเป็นผู้นำการทำพิธีการต่างๆ โดยจะใช้เวลาในการทำพิธีสะโหลดอยู่ประมาณ 2-7 วัน โดยเคาจ้ำจะเป็นผู้กำหนดวันพิธีร่วมกับชุมชน การเสี่ยงทายหาจ้ำหรือบ้านที่มีผีอยู่ และจะทำพิธีตามขั้นตอนต่างๆ เช่น เชิญขวัญข้าว เลี้ยงผี
บ้านเต๋ยกลางเขา ทำพิธีกันประมาณ 5 วัน มีพิธีเริ่มแต่เช้า เจ้าของบ้านเรือนที่ผีอาศัย (บ้านที่ถูกเสี่ยงทาย) จะเป็นตัวแทนของชุมชนในการทำพิธี เช่น ต้องเอาพืชพันธุ์ต่างๆ จากไร่ มาใส่กระจาดสำหรับทำพิธี ชาวบ้านลัวะทุกคนในหมู่บ้านไปรวมกันที่ศาลาผีของหมู่บ้าน มีการเล่นดนตรีตีพิห์ร่วมกันไปจนถึง 9 โมงเช้า จึงเริ่มแห่ไปตามหมู่บ้าน

เครื่องทำพิธีขวัญข้าวของชาวลัวะสะโหลด
เมื่อต้นขบวนไปถึงเรือนที่ผีอาศัยอยู่ เคาจ้ำก็ว่าคาถาไป ส่วนเจ้าของเรือนนำกระจาดพืชพันธุ์ไปไว้ในห้องนอน แล้วเชือดไก่นำเลือดไปชโลมในกระจาดพืชพันธุ์ แล้วนำพิห์ทั้งหมดขึ้นมาไว้บนเรือน ชโลมด้วยเลือดไก่ทุกอัน จากนั้นนำไก่มาทำให้สุกมาเลี้ยงกัน มีการทำพิธีเขี่ยพิห์โดยผู้นำอาวุโส มีการดูดอุ ก็เป็นอันเสร็จพิธี
ตกเย็นทุกหลังคาเรือนจะฆ่าไก่ใส่กระจาดพืชพันธุ์แบบเดียวกัน

ทำพิธีเขี่ยเหล้าดูดอุที่บ้านเคาจ้ำ
วันรุ่งขึ้นทำพิธีเช่นเดียวกัน ย้ายจากบ้านเคาจ้ำคนเดิมไปยังบ้านเคาจ้ำที่เลือกขึ้นมาใหม่ พิธีการต่างๆ ก็เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าขั้นตอนพิธีนี้จะมีการเขี่ยเหล้าดูดอุไปด้วย
การละเล่นตีพิห์ที่ทำขึ้นกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นเรื่องราวที่มีความงดงามในอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์

สาวน้อยกำลังฝึกฝนการตีพิห์
เสียงก้องกังวาลจากเสียงตีกระบอกไม้ไผ่เป็นจังหวะพร้อมเพรียงให้ความไพเราะดังก้องทั่วหมู่บ้าน ราวกับว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกให้จิตวิญญาณของชาวลัวะ รวมเป็นหนึ่งเดียวที่สืบทอดเป็นหัวใจของชาติพันธุ์ลัวะ (มัล-รฺ) ที่หยั่งรากลึกเหนือขุนดอยภูคาที่สูงเสียดเมฆแห่งป่าเมืองน่าน
----------------------
(ถิ่นไทยงาม : สะโหลดหลวง เสียงเพรียกจิตวิญญาณของลัวะ(มัล-รฺ) : เรื่อง / ภาพ ... สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์)