Lifestyle

'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ท่องไปกับใจตน : 'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967 : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล [email protected]

 
                     กาลครั้งหนึ่ง เรื่องราวความรักในตำนาน “เขาสามมุข” ยังอบอวลในรอยจำของผู้คนบนผืนทรายชายฝั่งทะเลตะวันออก จากเหตุสะเทือนใจเพราะชายหนุ่มกับหญิงสาวพลีชีวิตบูชารักด้วยการกระโดดหน้าผา ในตำนานเล่าว่า ฝ่ายชายชื่อ “แสน” หนุ่มหล่อมีพ่อเป็นเศรษฐีบ้านอ่างหิน ฝ่ายสาวชื่อ “สามมุข” เป็นชาวบางปลาสร้อยผู้ต้อยต่ำเพราะความจน แต่พรหมลิขิตให้ดั้นด้นมาพบรักกันจนได้ ที่แหลมหิน ซึ่งมีแท่นหินขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่น
 
 
'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967
 
เอกลักษณ์บางแสนที่แหลมแท่น
 
 
                     ฝ่ายเศรษฐีบ้านอ่างหินกลัวตกเป็นขี้ปากชาวบ้านว่าได้สะใภ้ไร้ราศี จึงรวบรัดจัดพิธีคลุมถุงชนให้ลูกชายแต่งกับลูกสาวเพื่อนเศรษฐี ที่ “แสน” ไม่เคยมีใจให้ “สามมุข” รู้ข่าวก็โศกเศร้าสุดพรรณนา ตัดสินใจกระโดดหน้าผาริมทะเลตกลงมาถึงแก่ชีวิต จากนั้นอีกไม่นานหนุ่มแสนก็พิสูจน์รักแท้ที่มีต่อสามมุขด้วยการกระโดดหน้าผาตายตาม กลายเป็นตำนานรักเล่าขานกันสืบมา และกลายเป็นที่มาของ “ชื่อบ้านนามเมือง” ใน จ.ชลบุรี คือชายหาดบางแสน เขาสามมุข บ้านแสนสุข บ้านอ่างศิลา บ้านบางปลาสร้อย และแหลมแท่น
 
                     โดยเฉพาะ “แหลมแท่น” ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในบันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ว่า ในปีพุทธศักราช 2449 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จมาประทับรักษาพระวรกายที่ “ค่ายหลวงอ่างศิลา” แล้วโปรดที่จะประพาสแหลมหิน ซึ่งมีแท่นศิลาขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดดเด่น เรียกว่า “แหลมแท่น” อยู่ใกล้กับ “เขาแหลมแท่น” ซึ่งหนังสือ “ปกิณกะวัฒนธรรมชลบุรี” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี บันทึกไว้ว่า เขาแหลมแท่นสมัยก่อนเป็นป่า มีสัตว์ป่าชุกชุม ชาวแหลมแท่นเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง ผู้หญิงทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย ทอเป็นผ้านุ่ง เป็นผ้าขาวม้า และผ้ายกดอก ปลาที่หามาได้จะนำไปขายที่หนองมน แล้วซื้อข้าวสารและถ่านกลับมา การเดินทางไปหนองมนใช้วิธีเดินเท้า ข้าวของที่ซื้อมาถ้ามากก็ใช้เกวียนบรรทุก ถ้าไม่มากก็หาบเดินไป สมัยก่อนมีคนมาตีเอาหินไปขายต่อที่กรุงเทพฯ ต่อมาชาวบ้านรู้จักนำมาสกัดเป็นของใช้ในครัวเรือน อาทิ ครก สาก และโม่ นอกจากทำไว้ใช้เองแล้วยังจำหน่ายด้วย
 
 
'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967
 
ประติมากรรมโลมากับเกลียวคลื่น
 
 
                     กาลต่อมาไม่น่าเชื่อเลยว่าชุมชนเล็กๆ ไกลปืนเที่ยง ชื่อ “แหลมแท่น” จะถูกจดจำรำลึกถึงอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของชาวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะสถานที่อันเป็นจุดกำเนิด “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Association of Southeast Asian Nations อักษรย่อ ASEAN เรียกอย่างย่อว่า “สมาคมอาเซียน”) ซึ่งถึง พ.ศ.นี้ มีอายุยืนยาวมาถึง 48 ปี ก่อนจะมีการขยับตัวครั้งสำคัญที่สุด คือการยกระดับจาก “สมาคม” เป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ที่มีพลังเข้มแข็งกว่าเก่า ในช่วงปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้
 
                     แต่เหตุใด องค์กรนานาชาติอย่าง “สมาคมอาเซียน” จึงมีจุดกำเนิดที่แหลมแท่น ชลบุรี? อาจเริ่มต้นจากความงามของแหลมแท่น เป็นที่โปรดปรานของราชนิกุลที่เสด็จมาประทับรักษาพระวรกาย ณ ค่ายหลวงอ่างศิลา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2497 มีบัญชาให้สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กยื่นจากฝั่งทะเล ที่ปลายสะพานมีบาร์ขายอาหาร รู้จักกันในนาม “บาร์แหลมแท่น” นับแต่นั้น แหลมหินตรงปลายสุดของชายหาดบางแสน ก็ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้มาเยือน ในห้วงยามที่ “บางแสน” คือนิยามของการไปเที่ยวทะเลในยุคนั้น
 
 
'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967
 
สะพานใจของนักตกปลา
 
 
                     ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. ในปี 2500 แล้ว ก็ได้สร้างบ้านพักตากอากาศ หรือบ้านพักรับรองขึ้นมากมายในหลายจังหวัด และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “บ้านแหลมแท่น” ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นที่พักรักษาตัว ก่อนที่ท่านจอมพลจะถึงแก่อสัญกรรม ในปี 2506 โดยระหว่างพักรักษาตัวที่นี่ ยังมีการนัดประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็น “วอร์รูม” ติดตามสถานการณ์โลก นับตั้งแต่การล้มรัฐบาลโง ดินห์ เยียม ในเวียดนามใต้ ไปจนถึงการลอบสังหารจอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก่อนที่บ้านแหลมแท่นจะถูกรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ในปี 2507 มีสถานะเป็น “บ้านพักรับรอง” ในความดูแลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (จาก...ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า)
 
                     ครั้นเมื่อเกิดแนวคิดริเริ่มจัดตั้งสมาคมอาเซียนโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในขณะนั้น คือ น.อ.(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าคณะ ชักชวนผู้นำจาก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งสมาคมขึ้นโดยเลือกใช้บ้านพักรับรองแหลมแท่น ชลบุรี เป็นที่ประชุม ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) และได้จัดทำเอกสารข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า “Spirit of Bangsaen” หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” จากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม 2510 จึงมีการลงนามในปฏิญญาก่อตั้งอาเซียน เรียกว่า “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) หรือ ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร
 
 
'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967
 
พระโพธิสัตว์กวนอิมที่แหลมแท่น
 
 
                     ดังนั้น หากยึดถือว่า วันที่ 8 สิงหาคม 2510 เป็นวัน - เดือน - ปีเกิดของสมาคมอาเซียน และกระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ เป็นสถานที่เกิด คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า บ้านแหลมแท่น ชลบุรี คือสถานที่ปฏิสนธิอันมีความหมายยิ่งนัก
 
                     ปัจจุบัน แหลมแท่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักตกปลามาชุมนุมกัน และยังมีตลาดนัดยามเย็นริมทะเล มีถนนคนเดิน (วอล์กกิ้งสตรีท) เป็นลานนัดพบของชาวไบค์เกอร์ มีสนามแข่งรถยนต์ทางเรียบแบบปิดเมือง (Bangsaen Thailand Speed Festival) โดยมีประติมากรรมหินแกรนิตรูปโลมากับเกลียวคลื่น โดดเด่นอยู่ตรงกลาง บ่งบอกถึงความรักความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อท้องทะเลแห่งนี้
 
 
'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967
 
เสน่ห์แหลมแท่นวันนี้
 
 
 
 
 
----------------------
 
(ท่องไปกับใจตน : 'จิตวิญญาณบางแสน' เหตุเกิดที่แหลมแท่น 1967 : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล [email protected])
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ