Lifestyle

'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง : โดย...สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 
                     นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดระเบียบชุมชนที่ปลูกสร้างรุกล้ำริมคลองในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าสอดคล้องกับระบบการระบายน้ำและผังเมือง
 
                     อย่างไรก็ดี มีชุมชนริมคลองหลายแห่ง เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     หนึ่งในนั้น คือ “ชุมชนริมคลองบางบัว” ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางบัว เขตบางเขน (ตรงข้ามกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางบัวมานานไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี แต่ในระยะหลังนับแต่ปี 2530 เป็นต้นมา มีผู้คนอยู่อาศัยกันมากขึ้น บ้านเรือนจึงหนาแน่น และบางส่วนปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในลำคลอง ทำให้กีดขวางทางเดินของน้ำ อีกทั้งยังมีขยะและของเสียลอยฟ่องอยู่ในคลอง จึงมีกระแสข่าวมาตลอดว่าทางราชการจะทำการรื้อย้ายชุมชน โดยเฉพาะในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2543 ก็มีนโยบายจะสร้างถนนเลียบคลองบางบัว และรื้อย้ายชุมชนให้ไปอยู่แฟลตฝักข้าวโพด
 
                     คลองบางบัวมีความยาวทั้งหมดประมาณ 9 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง บางเขน และหลักสี่ ตลอดแนวคลองมีชุมชนต่างๆ ตั้งเรียงรายทั้งสองฟากฝั่ง จากปัญหาเรื่องขยะและน้ำเน่าเสียในคลอง ชุมชนเหล่านี้จำนวน 12 ชุมชนจึงได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมคลองบางบัว” ในปี 2541 เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเก็บขยะในคลอง การทำถังดักไขมันในครัวเรือนเพื่อบำบัดน้ำเสีย การทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อฟื้นฟูสภาพคลอง ฯลฯ
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     ประภาส แสงประดับ ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯลฯ เล่าว่า จากปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลอง ประกอบกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546 ทำให้ชาวบ้านชุมชนริมคลองบางบัว เริ่มมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย จึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลของชุมชน พบว่า ในชุมชนริมคลองบางบัว มีบ้านเรือนทั้งหมด 264 หลัง ในจำนวนนี้ปลูกบ้านรุกล้ำลำคลองประมาณ 80 หลัง
 
                     พอถึงปี 2547 จึงเริ่มพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยเปิดเวทีประชาคม มีการจัดตั้งคณะทำงาน และตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยขึ้นในเดือนมีนาคมปีนั้น โดยให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงออมเงินเข้ากลุ่มเป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 200 บาท นอกจากนี้ก็ยังมีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานเขตบางเขน ม.ศรีปทุม มาช่วยเรื่องการออกแบบบ้านและผังชุมชน ม.เกริก และ มรภ.พระนครมาช่วยเรื่องการจัดทำข้อมูลประวัติชุมชน ฯลฯ
 
                     “ตอนแรกชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจโครงการ ต้องมีการพูดคุยกันบ่อยๆ จัดประชุมเป็นกลุ่มย่อยจะได้พูดคุยกันได้ทั่วถึง รู้ว่าใครเป็นอย่างไร ใครคัดค้าน บางคนก็ต่อต้าน จะไม่ยอมรื้อถอนบ้าน บางคนก็ขู่ โดยเฉพาะเจ้าของบ้านเช่า เพราะเขาเสียประโยชน์ เนื่องจากเมื่อมีการปรับผังชุมชนใหม่ ชาวบ้านทุกคนจะได้รับสิทธิ์เท่ากัน เพราะที่ดินมีไม่พอ ต้องแบ่งให้เท่าเทียมกัน” ประภาส เล่าถึงปัญหาในตอนเริ่มแรก
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     ตุ๋ย พลอยขาว รองประธานชุมชนริมคลองบางบัว เล่าว่า ตอนแรกตัวเองก็คัดค้าน เพราะไม่อยากรื้อบ้าน ต้องเป็นหนี้สินเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ แต่ในใจก็กลัวว่าถ้าเราไม่เข้าร่วม หากทางราชการให้รื้อบ้าน แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน จึงเข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ ตอนแรกก็ออมแค่เดือนละ 200 บาท แต่ก็ยังไม่เชื่อว่ารัฐจะมาสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง
 
                     “พอสร้างบ้านเฟสแรกเสร็จ ป้าก็เห็นว่าโครงการบ้านมั่นคงทำได้จริง บ้านก็สวยดี ป้าจึงออมเงินเพิ่มเป็นเดือนละ 500 บาท จะได้มีเงินออมเอาไว้สร้างบ้านของตัวเองบ้าง” ป้าตุ๋ย เล่าย้อนอดีตเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
 
                     กระบวนการสร้างบ้านมั่นคงริมคลองบางบัวหลังจากจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ยังมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประภาสกล่าวว่า แม้ว่าในช่วงแรกจะมีคนคัดค้านไม่เห็นด้วย แต่คณะกรรมการก็จะไม่ใช้วิธีการปะทะ เพราะจะทำให้ปัญหาบานปลาย ดังนั้นจึงต้อง "ทำเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ใครจะด่าว่าอย่างไร ก็ทำเป็นไม่สนใจ”
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     หลังจากนั้นจึงมีการออกแบบผังชุมชนโดยชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยมีอาจารย์จาก ม.ศรีปทุมมาช่วยทำความฝันของชาวบ้านให้เป็นจริง จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะต้องรื้อบ้านแล้วสร้างบ้านใหม่ทั้งชุมชน เพราะจำนวนที่ดินที่มีทั้งหมด 9 ไร่เศษ ไม่เพียงพอต่อจำนวนบ้านทั้งหมด 264 ครัวเรือน ดังนั้นจึงต้องออกแบบบ้านให้เพียงพอกับผู้อยู่อาศัย โดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งจะได้รับสิทธิ์ในที่ดินเฉลี่ยรายละ 5X10 เมตร ขนาดบ้านมีเนื้อที่ 12.5 ตารางวา มีแบบบ้านให้เลือก คือ บ้านเดี่ยวชั้นเดียว, บ้านเดี่ยว 2 ชั้น, บ้านแฝด 2 ชั้น และบ้านแถว 2 ชั้น ส่วนที่ดินทั้งหมดชาวบ้านทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ระยะเวลา 30 ปีในอัตราค่าเช่าตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน
 
                     ส่วนการจัดสิทธิที่อยู่อาศัย เมื่อปรับผังใหม่แล้วจึงนำไปจัดสิทธิในที่ดินของแต่ละครอบครัวว่าจะอยู่ตรงไหน ส่วนใหญ่ขอเลือกอยู่ใกล้พื้นที่เดิม และเลือกในเฟสเดียวกันว่าใครจะอยู่ห้องไหน จึงร่วมกันจัดเวทีแสดงสิทธิในแต่ละกลุ่มย่อย โดยกลุ่มย่อยจะเป็นผู้ยืนยันว่าจะกำหนดสิทธิ ทะเบียนบ้าน 1 หลัง มีสิทธิ์ได้ 1 สิทธิ์ หรือบ้านใดมีสมาชิก 8 คนจะได้ 1 สิทธิ์ ถ้าเกิน 8 คนได้อีก 1 สิทธิ์ และคนที่จะได้สิทธิ์นั้นจะต้องอาศัยอยู่ในชุมชนจริงไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งกลุ่มย่อยจะรู้กันเองว่าใครอยู่จริงหรือไม่จริง ส่วนคนที่เช่าบ้านและที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่จริงในชุมชนเกิน 10 ปี และทำความดีให้แก่ชุมชนก็สามารถได้สิทธิ์เช่นเดียวกัน
 
                     หลังจากกระบวนการจัดสิทธิแล้ว ในช่วงปลายปี 2549 โครงการบ้านมั่นคงริมคลองบางบัวเฟสแรกจึงได้เริ่มก่อสร้างจำนวน 9 หลัง และทยอยสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภคจาก พอช. รวม 10.3 ล้านบาท สินเชื่อสร้างบ้านรวม 24 ล้านบาท ราคาบ้านโดยประมาณ 100,000-250,000 บาท ผ่อนส่งสินเชื่อกับ พอช. ประมาณ 590-1,187 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงฯ เพื่อบริหารโครงการ
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     สำหรับประสบการณ์จากการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ที่ประภาสอยากจะฝากไปถึงชุมชนริมคลองอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการนั้น เขากล่าวว่า เรื่องเงินเรื่องทองเป็นเรื่องใหญ่ คณะกรรมการต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ เพราะโครงการใดๆ ที่ใช้งบประมาณเยอะ คนที่ไม่เข้าใจหรือคัดค้านจะหาเรื่องโจมตี หรือคิดว่ากรรมการจะได้รับผลประโยชน์ จึงหาเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทำให้โครงการสะดุดได้
 
                     ตัวอย่างเช่น การซื้อวัสดุ จะให้ชาวบ้านช่วยกันสืบราคาและสั่งซื้อเอง โดยจะมีสมุดบันทึกจดรายการสินค้าและบัญชีที่จัดทำขึ้นมา 3 ฝ่าย คือเจ้าของบ้าน คณะกรรมการ และร้านค้า เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องและตรงกัน ป้องกันไม่ให้นำเอาเงินที่จะซื้อวัสดุหรือสร้างบ้านไปใช้จ่ายทางอื่น ทำให้บ้านสร้างไม่เสร็จ เมื่อเริ่มสร้างบ้านหรือระบบสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า ประปา จะมีการเลือกช่าง เป็นทีมสาธารณูปโภคจากชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ หากไม่พอก็เปิดรับจากชุมชนใกล้เคียง มีการบริหารจัดการโดยชาวบ้านมามีส่วนร่วม ควบคุมงานและตรวจสอบ
 
                     “สิ่งสำคัญที่ได้จากการก่อสร้างบ้าน คือเกิดวัฒนธรรมที่มีการช่วยเหลือกัน เช่น การรื้อย้ายไม่มีการใช้งบประมาณ ชาวบ้านช่วยกันรื้อย้ายเอง ทำให้มีความรักและหวงแหนในสิ่งที่ตัวเองทำหรือก่อสร้าง จึงเกิดวัฒนธรรมใหม่ คือรักษาและช่วยกันดูแลโดยชาวบ้าน ที่สำคัญชาวบ้านเองมีโอกาสเสนอแผนงานความต้องการจากการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบผังชุมชน แบบบ้าน หรือระบบสาธารณูปโภคไปสู่ส่วนราชการให้เกิดการยอมรับได้” ประภาส กล่าวถึงผลทางอ้อม
 
 
'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง
 
 
                     ปัจจุบันบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองบางบัว ก่อสร้างเสร็จหมดแล้ว ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น บ้านเรือนริมคลองช่วยกันปลูกต้นไม้ ดูร่มรื่น สวยงาม มีสะพานคอนกรีตเลียบริมคลองขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ซึ่ง กทม.กำลังจะก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กความยาวประมาณ 620 เมตรขนานไปกับสะพานคอนกรีตของชุมชน ทำให้ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน คสล.แต่อย่างใด เพราะรื้อย้ายบ้านเรือนมาสร้างบนที่ดินริมคลองหมดแล้ว
 
                     จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านริมคลองบางบัว ทำให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำคลองได้รับการแก้ไข ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี ชุมชนอยู่ร่วมกับคลองได้ ไม่ต้องหวาดผวาต่อนโยบายไล่รื้ออีกต่อไป
 
                     ผลสำเร็จดังกล่าว ในปี 2550 สถาบันสมิธโซเนี่ยนของรัฐบาลสหรัฐ จึงได้เชิญตัวแทนชาวบ้านชุมชนริมคลองบางบัว ไปออกบูธจัดนิทรรศการเนื่องในงานที่อยู่อาศัยโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี นอกจากนี้ยังมีผู้คนทั้งในและนอกประเทศมาศึกษาดูงานที่ชุมชนแห่งนี้ไม่ขาดสาย
 
                     ประสบการณ์และบทเรียนในการแก้ไขปัญหาของชาวชุมชนริมคลองบางบัว คงจะทำให้ชาวชุมชนริมคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบคูคลองในขณะนี้ มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และทำให้ภาครัฐมองเห็นทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่ถือชาวบ้านเป็นหลักว่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จทั้งกายภาพและคุณภาพของชุมชน
 
 
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 'บางบัวโมเดล' สร้างชื่อระดับโลก ต้นแบบแก้ปัญหาชุมชนริมคลอง : โดย...สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ