ไลฟ์สไตล์

งดรับ'รอยสัก-ระเบิดหู'เจตนาดูแลชีวิตลูกศิษย์

งดรับ'รอยสัก-ระเบิดหู'เจตนาดูแลชีวิตลูกศิษย์

10 ส.ค. 2558

เปิดใจ'รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวณิช'นายกสวทอ. งดรับ'รอยสัก-ระเบิดหู'เจตนาดูแลชีวิตลูกศิษย์ : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญรายงาน

             เป็นประเด็นที่สังคมจับตา...เมื่อปรากฏข่าวว่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนมีมติร่วมกันจะไม่รับเด็กที่มีรอยสัก ระเบิดหู เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559..เกิดข้อกังขาว่าตัดสินคนจากภายนอก ตัดโอกาสการศึกษาเด็กหรือไม่!!

             “ความจริงมาตรการรอยสัก ระเบิดหู เป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่มติสำคัญของที่ประชุมคือ การกำหนดมาตรการกลางเพื่อดูแลพฤติกรรมนักศึกษาอาชีวะเอกชนทุกคน ทั้งการแต่งกาย ทรงผม การพกอาวุธ ยาเสพติด รวมถึงเรื่องของงานวิชาการ แต่กลายเป็นว่าคนสนใจเฉพาะมาตรการรอยสัก ระเบิดหู ซึ่งผมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก มีแต่คนโทรศัพท์มาสอบถาม โดยเฉพาะสื่อมวลชน ไม่มีใครสนใจสิ่งที่เรากำลังทำ” คำชี้แจงแลตัดพ้อกรายๆ ของ รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวณิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.)

             รศ.ดร.จอมพงศ์ อธิบายความเป็นมาว่า เนื่องจากปัญหาการอาชีวศึกษาของชาติ โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาท มีมายาวนาน ทำให้อาชีวะกลายเป็นโจทย์ของสังคม ถึงเวลาที่ทุกฝ่าย ทุกสถาบันอาชีวะเอกชนควรร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหา จึงเชิญผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรม จำนวน 19 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาหารือเรื่องพฤติกรรมของนักเรียน นักศึกษาที่ส่งผลต่อการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ที่ท้ายสุดนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและชีวิต และได้มีมติและลงสัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษาใกล้ชิดร่วมกัน

             โดยหากพบว่ามีนักเรียน นักศึกษาพกอาวุธหรือสิ่งเสพติดทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาก็ให้พ้นสภาพทันที และผู้ปกครองควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย ให้จัดทำบัญชีดำส่งทุกสถานศึกษารับทราบและไม่รับเข้าเรียน ในส่วนการแต่งกายทุกสถานศึกษาจะเข้มงวดทั้งทรงผมและเครื่องแบบ โดยจะไม่รับนักเรียน นักศึกษาที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 เพราะพบมีกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเป็นนักศึกษา ส่วนด้านวิชาการก็จะมุ่งพัฒนาระบบการเรียนการสอนทวิภาคีมากขึ้นด้วย

             “ที่มีมาตรการรอยสัก ระเบิดหู ไม่ได้ต้องการลิดรอนสิทธิใคร ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรอยสักไม่ดี ยืนยันว่าผมไม่เคยคิดและไม่เคยพูด แต่เราคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกศิษย์ ซึ่งระหว่างประชุมก็มีบางวิทยาลัยยกตัวอย่างว่า เด็กบางคนสักเป็นตราสัญลักษณ์ หรือลาย ข้อความที่อาจเป็นการยั่วยุอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง แต่ถ้าเป็นรอยสักที่เสื้อผ้าปกปิดได้หรือลบได้ก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นมาตรการนี้ไม่บังคับว่าต้องทำตามเพียงขอความร่วมมือ ที่สุดแล้วก็ขึ้นกับดุลพินิจของวิทยาลัย” รศ.ดร.จอมพงศ์ กล่าว

             นอกจากความปลอดภัยต่อตัวเด็กแล้ว อาชีวะเอกชนต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เด็ก ส่งเสริมให้เขามีบุคลิกภาพที่เหมาะสมแก่วัยของการเป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะเดียวกันยังมองไกลออกไปถึงเส้นทางอาชีพของนักศึกษาด้วย เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่หน่วยงานราชการเท่านั้นที่มีข้อกำหนดไม่รับผู้ที่มีรอยสัก ระเบิดหู แต่สถานประกอบการหลายแห่งก็มีข้อกำหนดลักษณะใกล้เคียงกันด้วย แม้จะมีบางส่วนของมาตรการที่ออกมาขัดตา สร้างความคาใจแก่สังคม แต่เจตนาที่ซ่อนอยู่ก็คือดูแลชีวิตลูกศิษย์

             สกัดปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดการยั่วยุ อันนำไปสู่การทะเลาะวิวาท

เปิดพื้นที่เสี่ยง 30 แห่ง

             สำหรับปัญหานักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก่อเหตุทะเลาะวิวาท มีมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทั้ง สอศ.และสช.พร้อมหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างพยายามกำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ล่าสุดผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจำนวน 30 แห่ง แบ่งเป็นสังกัด สอศ. 21 แห่ง และสังกัด สช. 9 แห่ง ได้ร่วมกำหนดมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงและทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังนักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาท ซึ่งรวมวิทยาลัยสังกัด สอศ.และ สช.มารวมกลุ่มตามพื้นที่ ดังนี้ 1.กลุ่มมีนบุรี มีวิทยาลัย 11 แห่ง 2.กลุ่มอนุสรณ์สถาน (ดอนเมือง) มี 10 แห่ง 3.กรุงเก่า (โซนพื้นที่อยุธยา) มี 7 แห่ง 4.กลุ่มชัยสมรภูมิ มี 5 แห่ง 5.กลุ่มสวนหลวง ร.9 มี 8 แห่ง และ 6.กลุ่มธนบุรี (ฝั่งธนบุรี บางบอน สมุทรปราการ และนครปฐม) มี 12 แห่ง

             นอกจากนั้น ยังจำแนกเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มสีขาว ที่มีความประพฤติดี มีพื้นฐานชีวิตที่ดีและไม่มีความเสี่ยงจะเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มสีเทา เด็กที่มีปัญหาในชีวิตและมีแนวโน้มจะกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือก่อเหตุวิวาทได้ กลุ่มสีดำ เด็กที่มีพฤติกรรมก่อเหตุวิวาทเป็นประจำ และสุดท้าย กลุ่มศิษย์เก่า ทั้งนี้ในการดูแลจะเน้นเด็กกลุ่มสีเทา และสีดำเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งครูที่ปรึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดกรองเด็กแต่ละกลุ่ม และจะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่การพัฒนาจะให้ครูจัดกิจกรรมดูแลเด็กเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเอง

ไม่ตัดสินแค่รูปลักษณ์ภายนอก

             ในทัศนะของนักศึกษาต่อการห้ามรับเด็กรอยสัก-ระเบิดหู น้องมิว หรือ ชนะชัย คำพราว นักศึกษาปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน บอกว่า การสักหรือระเบิดหูเป็นความชอบส่วนบุคคล บางคนที่สักเพราะหลงรักในเสน่ห์ของรอยสัก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรอยสักจะเป็นคนไม่ดี เพราะเขาสักแค่ผิวหนัง ไม่ได้สักจิตใจ และไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเกเร หรือไม่สนใจเรียน

             ทั้งนี้ เขาก็เป็นคนหนึ่งที่มีรอยสักอยู่ที่แผ่นหลัง สักมาตั้งแต่เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 1 ตอนนั้นที่บ้านโดยเฉพาะคุณแม่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อการเรียน การทำงานในอานคต แต่วันนี้ได้พิสูจน์ให้ทางบ้านเห็นและภูมิใจว่าถึงจะมีรอยสักที่ร่างกาย แต่ก็ไม่เคยเกเร การเรียนไม่เสีย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และยังทำกิจกรรมกับคณะสร้างชื่อเสียงให้สถาบัน

             “อยากให้ผู้ใหญ่หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเปิดใจให้โอกาสเด็ก ไม่ตัดสินแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะบางคนช่วงชีวิตหนึ่งเขาอาจจะไปอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขาทำผิดพลาด ซึ่งไม่สามารถย้อนไปแก้ไขได้ แต่เมื่อเขากลับตัวอยากเรียนต่อเพื่ออนาคตและเพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจก็น่าจะได้รับโอกาส เพราะไม่แน่เขาอาจจะเข้ามาแล้วสร้างชื่อเสียงให้แก่วิทยาลัยก็ได้ จึงอยากให้คิดถึงมุมมองตรงนี้ด้วย แต่ถ้าเด็กเข้ามาเรียนแล้วทำผิดตรงนี้ก็ให้เขาออกไป” ชนะชัย กล่าว