
พลิกดินเค็มเนรมิตศูนย์เรียนรู้ ที่พึ่งของเกษตรกรบ้านโนนทอง
09 ส.ค. 2558
ท่องโลกเกษตร : พลิกดินเค็มเนรมิตศูนย์เรียนรู้ ที่พึ่งของเกษตรกรบ้านโนนทอง : โดย...ดลมนัส กาเจ
พื้นที่ 27 ไร่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยนาข้าว สระน้ำขนาดใหญ่ แปลงทดลองไม้ผล แปลงพืชผักสวนครัว เล้าไก่ เป็ดไข่ และคอกหมูภายในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรบ้านโนนทอง ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี บ่งบอกถึงความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในอดีตให้สามารถเป็นพื้นที่เพาะปลูกด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาชนะธรรมชาติของเกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งบ้านโนนทอง “ชัชวาลย์ ท้าวมะลิ” ในฐานะประธานศูนย์จนเป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องข้องและในแวดวงเกษตรกรใน จ.อุดรธานี อีกด้วย
ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เลือกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรบ้านโนนทองแห่งนี้ เป็นที่เปิดตัวโครงการและประชาสัมพันธ์การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบนาแปลงใหญ่ บูรณาการการทำงานของภาคีเครือข่ายถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่นำโดย สุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
ในระหว่างที่คณะของเรานำโดยทีมงานของบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่เดินทางเพื่อชักชวนผู้ประกอบการด้านเกษตรกรและเกษตรกรหัวก้าวหน้าไปร่วมและชมงาน “ซีมา อาเซียน ไทยแลนด์ 2015” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 19 กันยายนนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อาริน่า เมืองทองธานี ได้แวะไปที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรบ้านโนนทองแห่งนี้อีกด้วย
ชัชชวาลย์ เล่าว่า กว่าจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาด้านเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัวและจนเป็นที่ยอมรับในวันนี้ได้ ชีวิตของเขาเกือบล่มสลายมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่เขามองว่าอาชีพการทำนาเป็นอาชีพที่เหนื่อยและยากจน จึงตัดสินใจขายนาไปจำนวนหนึ่งเพื่อนำเงินเป็นไปจ่ายค่านายหน้าโดยหวังว่าจะไปขุดทองที่แดนอาทิตย์อุทัย แต่วาสนาของเขาไปได้เพียงที่สนามบินนานาชาตินาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถจะผ่านด่านคนตรวจเมืองได้ เพราะเอกสารที่อยู่ในมือเป็นเอกสารปลอม ในที่สุดถูกลอยแพกลับมา
“ผมเกิดมาเป็นลูกเกษตรกรโดยกำเนิด ครอบครัวทำนาบ้าง ปลูกอ้อยบ้าง แต่ขาดทุนมาตลอดเพราะดินเค็ม ผลผลิตไม่ดี จึงทราบดีว่าการทำชีพเกษตรแบบเดิมๆ ประสบแต่ความยากจน คนในตำบลเดียวกันนิยมไปทำงานต่างประเทศกลับมารวย ผมเองก็อยากรวย แต่ไม่มีเงินค่านายหน้า จึงตัดสินใจเอาที่มรดก 11 ไร่ ขายไปในราคา 1.8 แสนบาทในปี 2533 หวังไปขุดทองบ้าง แต่ปรากฏว่าถูกหลอกได้วีซ่าปลอม ที่นาก็หมดไป อายก็อาย สุดท้ายต้องมารับจ้างบ้าง ทำนาในที่ของพ่อตาบ้าง แต่ผลผลิตไม่ดีเพราะในดินเป็นเกลือทำให้สภาพดินเค็ม ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก” ชัชวาลย์ กล่าว
ชีวิตชัชวาลย์เริ่มมีจุดประกายใหม่และมีความหวังในอาชีพด้านการเกษตรอีกครั้ง หลังจากที่เขาตัดสินใจเข้าไปอบรมและเรียนรู้ด้านการเกษตรแนวใหม่ ตามหลักปรัชญาเกษตรพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ในปี 2554 กลับมาต่อสู้กับดินเค็มตามที่อบรมมา เริ่มจากมีการไถกลบตอซัง ปลูกพืชตระกูลถั่ว โรยแกลบ ตีดิน ปลูกพืชผัก ทำให้สภาพดินดีขึ้น จากเดิมที่ปลูกข้าวให้ผลผลิตได้ไร่ละราว 400 กก.แต่ปัจจุบันได้ผลผลิตไร่ละกว่า 700 กก.พร้อมกับการทำปุ๋ยหมักใช้เอง ผลิตเชื้อโตรโคเดอร์มาเองเพื่อเกิดจากเชื้อมาใช้เองทั้งหมด
จากนั้นตัดสินใจกู้เงินก้อนหนึ่งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาปรับสภาพพื้นที่ใหม่ส่วนหนึ่งเป็นบ่อปลา ปลูกมะพร้าวน้ำหอม เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู ปลูกพืชผักทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก ส่วนที่เหลือเอาไปขาย ใช้พื้นที่ส่วนนี้ 8 ไร่ ที่เหลือทำนาข้าว และเงินอีกส่วนหนึ่งซื้อโรงสีข้าวชุมชนเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารมาขายแทนขายข้าวเปลือก ส่วนปลายข้าว รำ สามารถขายได้อีก
“ตอนนี้ภายในศูนย์ของเรามีหมู 16 ตัว ไก่ไข่ 50 ตัว มีรายได้ทุกวัน เป็ดเทศ 100 ตัว เป็ดไข่ 40 ตัว ในบ่อปล่อยปลาไปหลายตัว รอบๆ บ่อปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทุกอย่างเน้นอินทรีย์เป็นหลัก เพราะหลายอย่างเราทำเอง ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ราว 5-6 แสนบาท เราอยู่ได้เพราะต้นทุนไม่สูงนัก ส่วนพืชผัก ข้าว ปลา ไข่ และอีกหลายอย่างไม่ต้องซื้อกิน” ชัชวาลย์ย้ำอย่างมั่นใจ
จากความสำเร็จของชัชวาลย์ ทำให้ในปี 2543 เขาใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนทอง ต่อมาในปี 2550 ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง และในปี 2554 ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งให้ตั้งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืช ล่าสุดในปี 2558 ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรส่วนหนึ่งให้ยกฐานะเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรบ้านโนนทองนั่นเอง
นับเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอีกแห่งหนึ่ง ที่จะเป็นที่พึ่งของเกษตรกรในชนบทที่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้โดยเฉพาะด้านเกษตรพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ที่จะนำไปสู่การเกษตรที่มีต้นทุนต่ำแต่ให้ผลผลิตสูงได้ในอนาคต
----------------------
(ท่องโลกเกษตร : พลิกดินเค็มเนรมิตศูนย์เรียนรู้ ที่พึ่งของเกษตรกรบ้านโนนทอง : โดย...ดลมนัส กาเจ)