ไลฟ์สไตล์

ปลัดศธ.จี้ทบทวนไม่รับเด็กสัก-ระเบิดหู

ปลัดศธ.จี้ทบทวนไม่รับเด็กสัก-ระเบิดหู

06 ส.ค. 2558

ปลัดศธ.ชี้การไม่รับเด็กที่มีรอยสัก-ระเบิดหูเข้าเรียน อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จี้ อาชีวะเอกชน ทบทวนมติ เกรงบุคคลไม่พึงประสงค์แอบแฝงเป็นนศ. ให้ตรวจสอบประวัติ

 
                      6 ส.ค. 58  นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหารือเรื่องพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษา ที่ส่งผลต่อการก่อเหตุทะเลาะวิวาท และมีมติร่วมกันว่า สถานศึกษาทุกแห่งจะเข้มงวดเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ โดยจะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 ว่า ตนไม่ทราบมติดังกล่าว และยังไม่มีโอกาสสอบถามกับนายจอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมฯ โดยส่วนตัวมองว่า มติดังกล่าวที่ออกมานั้น เพราะทางวิทยาลัยอาชีวะเอกชน ต้องการส่งสัญญาณไปยังนักเรียนและผู้ปกครองว่าอยากให้ผู้เรียนที่จะเข้ามาเรียนในอาชีวะเอกชนนั้นมีบุคลิกภาพที่ดี
 
                      ส่วนหนึ่งต้องยอมรับด้วยว่า เด็กที่มาเรียนที่อาชีวะเอกชนนั้นจะแตกต่างจากอาชีวะรัฐ ที่ส่วนใหญ่เรียนจบการศึกษาภาคบังคับก็มาเรียนทันที ไม่ได้ไปสัก หรือเจาะ ระเบิดหู แต่เด็กที่มาเรียนอาชีวะเอกชนบางคน อาจจะมาเรียนหลังจบการศึกษาภาคบังคับไปหลายปี ซึ่งเขาอาจไปใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการที่เด็กสัก หรือระเบิดหู จะเป็นคนไม่ดี และไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล เพียงแต่ถ้าอยู่ในวัยเรียน ลักษณะการสัก หรือระเบิดหู อาจไม่เหมาะสมเท่าใดนัก ซึ่งวิทยาลัยเองก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดระเบียบการแต่งกาย หรือคุณสมบัติของผู้เรียนที่วิทยาลัยต้องการได้
 
                      เลขาธิการ กช. กล่าวต่อว่า สช.ไม่มีอำนาจไปสั่งการวิทยาลัยเอกชนในเรื่องดังกล่าวได้ แต่จะทำข้อเสนอแนะไปยังสมาคมฯ ว่าขอให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป เช่น กรณีที่เด็กสักรอยสักนั้น ลบได้หรือไม่ หรือถ้าลบไม่ได้ ก็หาวิธีการอื่นที่ปกปิดได้หรือไม่ ส่วนที่ระเบิดหู หากมาเรียนก็ให้เอาตุ้มหูออกไป และเน้นให้มีการแต่งกายชุดนักศึกษาถูกระเบียบและเหมาะสม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วเด็กที่สัก ระเบิดหู ไม่ได้มีจำนวนมาก ซึ่งถ้าเขาตั้งใจเข้าสู่ระบบการศึกษา ก็ควรส่งเสริม
 
                      ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น ยืนยันว่าไม่มีนโยบายห้ามไม่ให้สถานศึกษารับเด็กนักเรียนที่มีรอยสัก หรือระเบิดหู เข้าเรียน และแม้ว่าอำนาจในการรับนักเรียนจะเป็นของวิทยาลัย ที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีวิทยาลัยไม่รับเด็กเพราะมีรอยสักหรือระเบิดหูเช่นกัน เพียงแต่จะกำชับให้การแต่งกาย การประพฤติ ต้องอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น
 
                      ขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มีมติลงสัตยบรรณดูแลพฤติกรรมนักศึกษา หากพบว่านักศึกษาพกอาวุธ หรือสิ่งเสพติด ทั้งภายในและนอกสถานศึกษา จะให้พ้นสภาพทันที และจัดทำบัญชีดำเพื่อให้ทุกสถาบันการศึกษารับทราบ ไม่รับเข้าเรียน นอกจากนั้นจะเข้มงวดเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ โดยจะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสัก และระเบิดหู เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 เพื่อป้องกันกลุ่มบุคคลไม่พึงประสงค์แอบแฝงเป็นนักศึกษา ว่า ได้สั่งการให้นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เชิญนายกสมาคมฯ มาพูดคุย ขอให้ทบทวนมติดังกล่าว โดยในความเห็นของตน มองว่า การเจาะหู หรือมีรอยสัก เป็นลักษณะบางอย่างในช่วงของวัยรุ่น ไม่ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของเด็กเหล่านั้นเสมอไป การไปตัดสินไม่รับคนที่มีรอยสัก หรือระเบิดหูเข้าเรียนอาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
 
                      ส่วนกรณีที่เกรงว่าจะมีบุคคลไม่พึงประสงค์แอบแฝงมาเป็นนักศึกษานั้น เข้าใจว่าเป็นความพยามจะลดปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทตั้งแต่ต้นลม แต่เด็กที่มีรอยสัก หรือระเบิดหูบางคน ก็อาจเป็นเด็กที่มีความคิดดี ต้องการจะเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพให้กับตนเอง สถาบันการศึกษาควรจะเป็นผู้อบรมบ่มนิสัย และควรให้โอกาสเขาเหล่านั้นได้เข้าเรียน และหากกังวลว่าจะผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะแอบแฝง ก็สามารถตรวจสอบประวัติก่อนเข้าเรียนได้
 
                      "การรับนักศึกษาทั่วไป ต้องดูว่าเด็กมีความรู้ทักษะที่สามารถจะเรียนได้หรือไม่ แต่ถ้ากังวลว่าเด็กเหล่านี้จะก่อเรื่อง ก็ต้องไปตรวจสอบประวัติ หากเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐไม่สามารถกำหนดเช่นนั้นได้แน่นอน เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ของเอกชน สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาได้เอง ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยรายละเอียดของมติดังกล่าวว่ามีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าออกมาแล้วมีผลให้สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็สามารถออกมาตรการป้องปรามได้ เพราะบางแห่งก็ยังรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐอยู่ หากสถาบันใดยังยืนยันว่าจะดำเนินการตามมติดังกล่าว ก็อาจอยู่ในบัญชีรายชื่อการพิจารณสนับสนุนงบประมาณในอนาคตได้"