ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกเปล้าขาเหลือง

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกเปล้าขาเหลือง

02 ส.ค. 2558

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกเปล้าขาเหลือง

 
                      เนื่องในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้บรรยายเกี่ยวกับการจำแนกกลุ่มนกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภายใต้โครงการ “เสริมศักยภาพพิทักษ์ป่า เพื่อพิทักษ์นกและถิ่นอาศัยนก” จัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ในวันที่ 7-9 สิงหาคมนี้ ท่านใดมีความประสงค์ช่วยสมทบทุนจัดซื้อกล้องส่องทางไกลและคู่มือดูนกสำหรับหน่วยพิทักษ์ป่า สามารถบริจาคเข้าบัญชีของสมาคมอนุรักษ์นก หมายเลข 0-2626-7476-5 ธนาคารทหารไทย รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้บนเว็บไซต์ของสมาคมเลยครับ
 
                      ห้วยขาแข้งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex) พูดได้เต็มปากว่าเป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในเมืองไทย ครอบคลุมถิ่นอาศัยและภูมิประเทศที่หลากหลายมาก แต่ป่าประเภทที่มีความโดดเด่นมากสำหรับที่นี่คือป่าเต็งรังระดับต่ำ ซึ่งเรียกได้ว่าผ่านการทำไม้จนเหี้ยนไปเกือบหมดแล้วในส่วนอื่นของประเทศ ตัวแทนนกป่าเต็งรังที่ขอแนะนำให้รู้จักก็คือ นกเปล้าขาเหลือง (Yellow-footed Green Pigeon)
 
                      ในอดีตนกเปล้าขาเหลืองมีอยู่ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่ไม่สูงจากน้ำทะเลมากนักทางตอนบนของประเทศ แต่ในปัจจุบันพบได้ง่ายเฉพาะที่ห้วยขาแข้งเท่านั้น ไม่เพียงแค่ถิ่นอาศัยของมันแทบไม่เหลือแล้ว มันยังถูกมนุษย์ล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนเกือบสูญพันธุ์จากเมืองไทย สถานภาพประชากรในระดับประเทศถือว่าย่ำแย่กว่านกเปล้าหน้าเหลือง (Ashy-headed Green Pigeon) และนกลุมพูเขียว (Green Imperial Pigeon) ซึ่งพบตามป่าผลัดใบระดับต่ำและถูกล่าเช่นเดียวกัน
 
                      นกเปล้าขาเหลืองเป็นนกเปล้าขนาดใหญ่ ลักษณะเด่นคือโคนขาสีเหลืองสด ตีนสีเหลืองอมส้ม ต่างจากนกเปล้าอื่นๆ ที่มีตีนสีแดง คอและอกสีเหลืองอมเขียว มีสีเทาที่กระหม่อมและท้อง ต่างจากนกเปล้าทุกชนิดที่พบในไทยที่ล้วนแต่มีสีเขียวทั่วทั้งตัวเหมือนๆ กันหมด นกเปล้าขาเหลืองมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกเปล้าในทวีปแอฟริกา ญาติสนิทที่สุดของมันคือ Bruce’s Green Pigeon ซึ่งพบในซาอุดีอาระเบียและตอนกลางของทวีปแอฟริกา
 
                      นกเปล้าขาเหลืองเพศผู้มีแถบสีม่วงที่หัวปีกชัดกว่าเพศเมีย ประชากรทางตอนใต้ของอินเดียต่างจากของไทยตรงที่ไม่มีแถบสีเทาที่ท้อง นกทางตะวันตกโดยเฉลี่ยก็มีสีอ่อนกว่าทางตะวันออก แต่นอกจากป่าตะวันตก ก็ไม่มีรายงานจากที่อื่นมานานมากแล้ว มีเพียงประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในศูนย์วิจัยการเกษตรแม่เหียะ จ.เชียงใหม่
 
 
 
------------------------
 
 
นกเปล้าขาเหลือง
 
 
ชื่ออังกฤษ Yellow-footed Green Pigeon,Yellow-legged Green Pigeon
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Treron phoenicopterus (Latham, 1790)
 
วงศ์ (Family) Columbidae (วงศ์นกเขาและนกพิราบ)
 
อันดับ (Order) Columbiformes (อันดับนกเขาและนกพิราบ)
 
 
------------------------