
เตือนภัยอันตรายจากการสัก
27 ก.ค. 2558
เตือนภัยอันตรายจากการสัก : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนภัยผู้ชอบนิยม “การสัก” ให้ระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสัก เผยส่วนประกอบของสีที่นำมาสัก มีส่วนประกอบของสารก่อมะเร็งพวก diolepoxide หรือหากเกิดการเจ็บป่วยและต้องเข้าตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจเกิดอาการข้างเคียง นอกจากนี้หากต้องการลบรอยสักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในปัจจุบันการสักผิวหนังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บางคนสักเป็นแฟชั่นเหมือนดาราชื่อดังหลายๆ คน บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาในการแต่งหน้า อาทิ สักคิ้วถาวร สักริมฝีปากชมพู เป็นต้น ในส่วนของสีที่สักนั้นจะไม่อยู่ในบริเวณที่สักนาน หลังจากการสัก 6 สัปดาห์จะเหลือเพียงร้อยละ 32 ในบริเวณที่สัก ถ้าผ่านไประยะยาวๆ จะเหลือเพียงร้อยละ 1-13 โดยสีจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้นสียังมีการเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากบริเวณที่สักถูกแสงแดด เช่น สีบางสีจะซีดลง รังสียูวีเอในแสงแดด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบในสี เกิดเป็นสารก่อมะเร็งพวก diolepoxide
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสักนั้น พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะเป็นอาการตั้งแต่หลังสัก แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 คือ ตกสะเก็ด มีอาการคัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง ส่วนอาการทั่วไป ได้แก่ มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย พบได้ร้อยละ 7 และพบภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากการสัก พบได้ร้อยละ 6 จากผู้สักทั้งหมด เช่น แผลเป็น บวมเป็นๆ หายๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น
สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบได้หลายอย่าง เช่น อาจทำให้เกิดการแพ้ในบริเวณที่สัก ทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรัง เนื่องจากแพ้สีที่สัก การสักไม่ถาวรที่เรียกว่าสักเฮนน่า ควรจะใช้เฮนน่าที่มาจากธรรมชาติ แต่มีผู้สักมักง่ายใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร paraphenylene diamine มาใช้แทน ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นแผลเป็นถาวรได้ การติดเชื้อจากการสักเกิดได้จากเชื้อหลายๆ ชนิด ตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรียและไมโครแบคทีเรีย เชื้อราและซิฟิลิส เมื่อผู้มีรอยสักมีอาการเจ็บป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดง ในบริเวณที่เป็นรอยสัก เนื่องจากสีหลากหลายสีที่นำมาสักมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก
สาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อเกิดได้จาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.เกิดจากสี ที่ใช้สักและการปนเปื้อนของสีและน้ำที่มาเจือจางสีปนเปื้อนเชื้อ 2.เกิดจากเทคนิคการสักที่ไม่ดี 3.สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ 4.เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน และ 5.จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง
สีที่ใช้สักมีปริมาณน้อยกว่าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงไม่มีการผลิตสีที่ใช้สำหรับการสักโดยตรง แต่ใช้สีที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ สีเคลือบรถยนต์ สีที่มาจากหมึกพิมพ์ เป็นต้น เป็นสีที่ผลิตออกมาออกมาเพื่อใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ เมื่อมีการนำมาใช้กับคนจึงไม่มีความปลอดภัย และมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งประเภท polycyclic aromatic hydrocarbons ในปริมาณสูงมาก สารต่างๆ อีกมาก ตลอดจนโลหะหนักต่างๆ โดยเฉพาะโลหะปนเปื้อนนิกเกิ้ลพบในทุกสี
สีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด มีส่วนประกอบหลักคือ carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี มีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน มีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง เกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า แม้ว่าสารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง กลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักเหล่านี้เกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ แต่จากการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก พบว่าทำให้ขนาดอานุภาคของสีสักลดลงได้ถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก ถ้าเปรียบเทียบทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่เปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดที่เบ้าและหัวกระดูกเป็นโลหะทั้งคู่ พบว่าการเสียดสีขณะใช้ทำให้มีปฏิภาคโลหะออกมาจากข้อเทียมก่อให้เกิดผลเฉพาะที่ และตรวจพบปริมาณโลหะหนักโคบอลต์เพิ่มปริมาณมากขึ้นในกระแสโลหิต ก่อให้เกิดอาการทางประสาท เช่น เหนื่อย เดินเซ สมรรถนะของการรู้คิด (cognitive function) ลดลง เช่นเดียวกัน การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ก็ทำให้มีปฏิภาคโลหะหนักและสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากสีที่ใช้สัก แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้เลเซอร์รักษารอยสักกับการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสี ทำให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แพทย์จะปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักในผู้ป่วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ยังไม่ทราบแน่ชัด
ในเรื่องของแนวทางการควบคุมทางกฎหมายนั้น ในประเทศไทยและในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก การสักยังไม่มีการควบคุม สีที่ใช้สักไม่ถือว่าเป็นยาหรือเป็นเครื่องสำอาง การสักไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ การควบคุมในปัจจุบันอาจทำได้เพียงผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น วิธีการตรวจสอบสีต่างๆ ยังไม่มีมาตรฐานกลางทั่วโลก แต่ภายในประเทศไทยได้เริ่มมีการพยายามสร้างทีมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายๆ สาขาวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับการสัก จึงขอฝากเตือนให้ผู้ที่ต้องการสักคิดสักนิดเกี่ยวกับอันตรายจากการสัก เมื่อสักไปแล้วมีผู้สักในประเทศไทยถึงร้อยละ 5 รู้สึกเสียใจ ซึ่งหากต้องการลบรอยสักออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อันตรายจากการลบรอยสักอาจเกิดขึ้นจากการปล่อยสารมะเร็งและโลหะปนเปื้อนต่างๆ ออกไปในกระแสโลหิต ซึ่งยังไม่มีใครทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจากการลบรอยสัก
ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท
ประธานฝ่ายจริยธรรม
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย