
'บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน'ในสไตล์'ชิโน-โปรตุกีส'
18 ก.ค. 2558
บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน ในสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส ร่วมสมัยที่ ระนอง : คอลัมน์ บ้านไม่บาน โดย... อาจารย์เชี่ยว
สวัสดีครับแฟนๆ ชาว “บ้านไม่บาน” ในสัปดาห์นี้ผมภูมิใจนำเสนอรูปแบบ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” ประเภท “ไฮด์บริด” ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ร่วมสมัย ที่กำลังจะเบิกบานในจังหวัด “ระนอง” ซึ่งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าแร่ดีบุก และเป็นศูนย์กลางการค้าขายชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารใน “สยามประเทศ” ตั้งแต่รัชสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3” แต่มาเฟื่องฟูถึงขีดสุดจริงๆ ในรัชสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5” ในยุคนั้น “ระนอง” ถือว่ารุ่งเรืองมากครับ
เราคงเคยได้ยินประวัติ “เจ้าเมืองระนอง” นาม “พระยาดำรงสุจริตมหิศร” (คอซู้เจียง) หรือเรียกตามนามเมืองว่า “หลวงระนอง” ต้นตระกูล “ณ ระนอง” ซึ่งเป็นคนจีนชาว “ฮกเกี้ยน” จากเมือง “เจียงจิวยู” ประเทศ “จีน” ที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่หนีความยากจนและการกดขี่จากรัฐบาล “แมนจู” มาเป็น “กุลี” (กรรมกร) ที่ “เกาะหมาก” (ปีนัง) แล้วจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาใน “สยามประเทศ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง “ระนอง” ในอดีต
นอกจากนี้ “ระนอง” ในปัจจุบันยังเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการประมงที่สำคัญ และเป็นอีก “ประตู” หนึ่งของ “ไทย” ที่ติดต่อค้าขายกับ “พม่า” โดยผ่านด่าน “วิคตอเรียพอยท์” จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นเรือสินค้านานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “สิงคโปร์” จอดเรียงรายเต็มไปหมด ก็ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอนาคตไกลเป็นอย่างยิ่งครับ ผมจึงฟันธงลงไปว่าเมื่อมีการเปิด “AEC” เสรีอาเซียน เต็มรูป “ระนอง” นี่แหละครับจะเป็น “หน้าด่าน” สำคัญในการทะลุทะลวงไปใน “พม่า” ตอนใต้
ผมเคยไป “ระนอง” มาหลายครั้ง เห็นศักยภาพของเมือง “ระนอง” เพิ่มมากขึ้น จากเดิมเมื่อร้อยปีล่วงแล้ว เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญของ “สยามประเทศ” แต่การค้ามาชะลอตัวลง ภายหลังจากการลดบทบาทของการทำเหมืองแร่ดีบุกลง และมีการย้ายศูนย์กลางการค้าไปยัง “ภูเก็ต” แต่ตอนนี้ “ระนอง” กำลังฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิด “AEC” เสรีอาเซียน ในอนาคตอันใกล้ แต่จะว่าไปแล้วกิจการการค้าขายระหว่าง “พม่า” กับประเทศเรา โดยผ่าน “ระนอง” ก็คึกคักครึกครื้นมายาวนานหลายสิบปีแล้วครับ เป็นการเติบโตแบบต่อเนื่องและยั่งยืน
แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ระนอง” จะเข้าสู่ “ยุคใหม่” ที่มีความเจริญในรูปแบบใหม่อย่างก้าวกระโดด อาจเป็นเพราะความได้เปรียบใน “ทำเล” ที่ตั้งที่เป็น “จุดยุทธศาสตร์” การค้าที่สำคัญ รวมทั้งความได้เปรียบจากทรัพยากรทางธรรมชาติของ “ระนอง” เองที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ประกอบกับจำนวนประชากรในตัวเมือง “ระนอง” มีเพียงแค่ 177,089 คนเท่านั้น ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียวครับ
สิ่งที่ผมประทับใจ “ระนอง” นอกจากอาหารทะเลสดๆ ประเภทกุ้ง, หอย, ปู, ปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เต๋าเต้ย” (ปลาจาระเม็ดน้ำลึก) รสเลิศ และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บน “ทำเล”ที่จัดได้ว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ทางการค้าที่สำคัญแล้ว “ระนอง” ยังอุดมไปด้วย “น้ำแร่” ที่มีชื่อเสียงและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันมายาวนานที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ประเภท “รักธรรมชาติ+สุขภาพ” ให้เข้ามาเยี่ยมเยียนตลอดทั้งปี และอีกสิ่งที่ประทับใจผมไม่รู้ลืม คือ อาคารบ้านเรือนที่เก่าแก่มีอายุนับ 100 ปี ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” มาจากรากศัพท์ที่ว่า “จีน-โปรตุเกส” (คำว่า “Sino” หมายถึง“จีน” และคำว่า “Portuguese” หมายถึง “โปรตุเกส”) แม้ว่า “อังกฤษ” และ “ดัตช์” จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม แต่ยังคงเรียกรวมกันว่า “จีน-โปรตุเกส”
ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ “จีน-โปรตุเกส” หรือ “ชิโน-โปรตุกีส” คือการผสมผสานระหว่าง “ศิลปะยุโรป” และ “ศิลปะจีน” จึงมักถูกเรียกว่า สไตล์ “สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม หรือ “แบบโคโลเนียล” (Colonial Style) ถ้าเป็นอาคารสองหรือสามชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (Shop-House or Semi-Residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมี “ช่องโค้ง” (Arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินติดต่อถึงกัน ภาษาไทย เรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต (Arcade) หรือภาษา “จีนฮกเกี้ยน เรียกว่า “หง่อคาขี่” คือ “ทางเดินกว้าง 5 ฟุต” หรือประมาณ 1.50 เมตร ต่อเนื่องถึงกันยาวตลอดบริเวณด้านหน้าอาคาร ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ถือว่าผู้ออกแบบมีความฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะ “หง่อคาขี่” จะช่วยคุ้มแดดคุ้มฝน ในสภาพอากาศ “ฝนแปด แดดสี่” คือ ฝนตกชุก โดยเฉลี่ย 8 เดือน และแดดแรง 4 เดือน เป็นสภาพภูมิอากาศในเขตร้อนชื้น “หง่อคาขี่” จึงถูกออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวครับ
นอกจากนี้ ผมยังออกแบบ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” หลังนี้ในลักษณะ “ไฮด์บริด” ในลักษณะเป็นอาคารแฝดคือ เป็นบ้านแฝดก็ดี หรือ ตึกแถวแฝดในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ร่วมสมัย ก็ได้ ซึ่งแต่ละคูหาผมออกแบบให้มีหน้ากว้าง 5 เมตร และที่พิเศษคือ การจัดวางผังภายในผมออกแบบให้มีปล่องเอาไว้สำหรับติดตั้งลิฟท์โดยสารขนาดเล็ก เผื่อไว้บรรดาสมาชิกที่เป็น “ส.ว.”(สูงวัย) ซึ่งเดินเหินขึ้นบันไดสูงๆ ไปชั้นสูงๆ ลำบาก ก็สามารถใช้ลิฟท์โดยสารขนาดเล็กประเภทสำหรับออกแบบใช้งานในอาคารพักอาศัย ที่ปัจจุบันมีราคาไม่สูงเกินเอื้อม (5-7 แสนบาท) ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ เพราะสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกทุกชั้น สามารถขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้า ซึ่งสามารถจัดให้เป็นสวน “Roof Garden” ไว้นั่งกินลมชมดาว หรือใครมีจินตนาการที่สุดแสนจะ “โรแมนติก” กว่านั้นก็ทำสระว่ายน้ำเล็กๆ พร้อมอ่าง “จากุซซี่” ซึ่งอาจจะเป็นสระว่ายน้ำสำเร็จรูปทำจาก “ไฟเบอร์กลาส” ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกทั้งก็มีราคาไม่แพง ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการและสภาพคล่องทางทุนทรัพย์ของท่านครับ
สัปดาห์นี้พื้นที่หมดครับ เอาไว้ต่อกันอีกสองสัปดาห์หน้า มาดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” ประเภท “ไฮด์บริด” ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ร่วมสมัย เป็นการต่อยอดจาก “ของดีมีอยู่” ที่เมือง “ระนอง” ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-1339-6007 หรือ เว็บไซต์ยอดฮิตของชาว “คนรักบ้าน” www.homeloverthai.com พบกันใหม่อีกสองสัปดาห์หน้าครับ
.......................................
(หมายเหตุ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ร่วมสมัยที่ “ระนอง” : คอลัมน์ บ้านไม่บาน โดย... อาจารย์เชี่ยว)