ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกบั้งรอกแดง

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกบั้งรอกแดง

12 ก.ค. 2558

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกบั้งรอกแดง

 
                       นกป่าประจำสัปดาห์นี้ยังคงเป็นชนิดที่เคยถูกนักวิทยาศาสตร์จัดกลุ่มผิดๆ เพราะอิงจากลักษณะภายนอก แม้กรณีของ นกบั้งรอกแดง (Raffles’s Malkoha) มันยังไม่ถึงขั้นถูกย้ายวงศ์แบบ นกจู๋เต้นจิ๋ว (Pygmy Cupwing) ของสัปดาห์ที่แล้ว แต่เป็นความจริงที่ว่าการศึกษาทางชีวโมเลกุลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนความเข้าใจเก่าๆ เกี่ยวกับนกบั้งรอกแดงไปโดยสิ้นเชิง แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีเชื้อสายใกล้กับนกบั้งรอกชนิดอื่นๆ เลย
 
                       ก่อนอื่นต้องเท้าความกันสักนิดว่า นกบั้งรอก (malkohas) จัดอยู่ในวงศ์นกคัคคู (Family: Cuculidae) แม้นกในวงศ์นี้จะเป็นที่รู้จักจากพฤติกรรมวางไข่ในรังให้นกชนิดอื่นฟัก (brood parasitic) แต่นกบั้งรอกแดงและนกบั้งรอกอื่นๆ ฟักไข่เลี้ยงลูกเอง ในวงศ์นกคัคคูทั้งหมดเกือบ 150 ชนิดทั่วโลก มีเพียง 60 กว่าชนิดเท่านั้นที่วางไข่ในรังนกอื่น ไม่ถึงครึ่งของนกคัคคูทั้งหมดด้วยซ้ำ จากข้อมูลล่าสุดสามารถแบ่งนกคัคคูออกเป็น 5 วงศ์ย่อย (subfamilies) พบในไทย 3 วงศ์ย่อย ได้แก่ วงศ์ย่อยนกโกโรโกโส (subfamily: Couinae) นกกระปูด (Centropodinae) ส่วนนกบั้งรอกและนกคัคคูทุกชนิดที่ไม่ฟักไข่เองอยู่ในวงศ์ย่อย Cuculinae
 
                       นกบั้งรอกแดงเป็นชนิดที่ “โบราณ” ที่สุดในกลุ่มหลัง คำว่าโบราณในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นชนิดที่อยู่มานานที่สุด หากแต่มันเป็นทายาทเพียงชนิดเดียวที่หลงเหลืออยู่ของสายวิวัฒนาการที่แยกออกเป็นสายแรก (basal lineage) เมื่อหลายล้านปีที่แล้ว หมายความว่านกบั้งรอกอีก 13 ชนิดที่เหลือ (พบในไทย 5 ชนิด)นั้น มีเชื้อสายใกล้ชิดกับบรรดานกคัคคูที่ไข่ในรังนกอื่น มากกว่านกบั้งรอกแดงเสียอีก
 
                       เมื่อเทียบกับบรรดา “นกบั้งรอกแท้” ทั้ง 13 ชนิด นกบั้งรอกแดงมีขนาดตัวเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด มักหากินเป็นคู่ รวมอยู่ในฝูงคละชนิดกับนกอื่นๆ (bird wave) เสาะหาแมลงที่ซ่อนอยู่ตามใบไม้ นอกจากนี้ยังชอบส่งเสียงร้องดังเป็นเอกลักษณ์ให้ได้ยินก่อนเห็นตัว เพศผู้มีลำตัวสีส้มอมน้ำตาล และมีลายขวางสีดำถี่ๆ ทั่วทั้งหาง ส่วนเพศเมียมีหัวสีเทาอ่อน และมีหางสีอ่อนกว่า 
 
                       ลักษณะเด่นอื่นๆ ของนกบั้งรอกแดงได้แก่ จะงอยปากและหนังเปลือยรอบตาสีฟ้าอ่อน นอกจากนี้ยังมีแต้มสีขาวที่ปลายขนหาง ขนหางที่มีความยาวลดหลั่นกันเป็นบั้งๆ บวกกับลักษณะหางที่ยาวคล้ายกระรอกนี่เองที่น่าจะทำให้มันได้ชื่อว่า “นกบั้งรอก” เป็นนกที่พบได้บ่อยตามป่าดิบและป่าพรุในคาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว
 
 
------------------------
 
 
นกบั้งรอกแดง
 
 
ชื่ออังกฤษ Raffles’s Malkoha
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinortha chlorophaea (Raffles, 1822)
 
วงศ์ (Family) Cuculidae (วงศ์นกคัคคู)
 
อันดับ (Order) Cuculiformes (อันดับนกคัคคู)
 
 
------------------------