ไลฟ์สไตล์

อภัยภูเบศร พร้อม!...ก้าวสู่ผู้นำด้านการแพทย์ผสมผสานในอาเซียน

อภัยภูเบศร พร้อม!...ก้าวสู่ผู้นำด้านการแพทย์ผสมผสานในอาเซียน

26 มิ.ย. 2558

ดูแลสุขภาพ : อภัยภูเบศร พร้อม!...ก้าวสู่ผู้นำด้านการแพทย์ผสมผสานในอาเซียน

 
                     โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประกาศนโยบายการแพทย์ผสมผสาน นำการแพทย์แผนไทยบูรณาการเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบบครบวงจร ในโอกาสครบรอบวันสถาปนาโรงพยาบาล 74 ปี โดยในงานมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการบูรณาการของการแพทย์ทั้งสองศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ ปลอดภัย ประชาชนเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ทั้งการประชุมวิชาการด้านการแพทย์ผสมผสาน นิทรรศการ และการลงนามความร่วมมือของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร สถาบันพระบรมราชชนก  
 
                     นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความเป็นมาของนโยบายด้านการแพทย์ผสมผสาน ว่า “ทุกวันนี้เราคงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาสุขภาพของประชากรไทยที่เปลี่ยนไปจากในอดีต และนับวันจะทวีมากขึ้น อาทิ โรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นใน 2 เท่า ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า การเจ็บป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยสูญเสียรายได้ 52,150 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2558 คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาในอัตราส่วนสูงถึง 30% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้เป็นอัตราส่วนไม่ถึง 10% ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในทวีปเอเชีย ดังนั้น การจะรับมือกับปัญหาสุขภาพใหม่จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์การให้บริการสุขภาพ ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่คิดเรื่องนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ก็กำลังให้พัฒนาแผนงานด้านการแพทย์ผสมผสานอยู่เช่นเดียวกัน 
 
                     โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย จึงคิดว่าควรที่จะนำจุดเด่นของทั้งสองศาสตร์มาผสมผสานกัน โดยการแพทย์แผนปัจจุบันมีจุดแข็งด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการติดตามการรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ส่วนการแพทย์แผนไทยก็มีจุดเด่นเรื่องการรักษาแบบองค์รวม การให้ความสำคัญกับต้นเหตุมากกว่าตัวโรค และสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาส่วนใหญ่ก็หาได้ในประเทศของเรา 
 
                     โดยโครงการดังกล่าวจะมีการดำเนินงานครบวงจรในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ มีทั้งการพัฒนารูปแบบและระบบการให้การบริการที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชน สถานบริการระดับรอง ถึงโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย มีการศึกษาวิจัย การเรียนการสอน เพื่อเป็นต้นแบบและก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งมีการแพทย์ดั้งเดิมและพันธุ์พืชสมุนไพรคล้ายคลึงกันกับบ้านเรา เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจแค่เพียงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสนใจถึงสุขภาพและสังคมอันเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนด้วย ทางโรงพยาบาลมีความมุ่งหวังว่า รูปแบบการแพทย์ผสมผสานที่พัฒนาขึ้นนี้ เราจะสามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งต่างก็มีระบบการแพทย์ดั้งเดิมคล้ายคลึงกับเราได้”
 
                     ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กล่าวเสริมว่า “โรงพยาบาลได้เลือกโรคเบาหวานขึ้นมาพัฒนารูปแบบการผสมผสานเป็นอันดับแรก เนื่องจากเห็นว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ.2552 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท โดยในการพัฒนารูปแบบเราทำงานในลักษณะสหวิชาชีพ ทำงานร่วมกันเป็นองค์รวม และทำตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและฟื้นฟูสภาพ เพราะเราทราบดีว่า โรคเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ไม่ออกกำลังกาย เครียด ดังนั้นเราจะมีทั้งแพทย์ พยาบาลที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง และผู้ที่มีสุขภาพดี โดยคนทั้งสามกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยอย่างเหมาะสม  
 
                     ผู้ที่ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เภสัชกร พยาบาล และนักโภชนากร ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงกลุ่มนี้เราคิดว่าการแพทย์แผนไทยมีคำตอบ เราจะใช้การแพทย์แผนไทยในการดูแล เสริมสร้างความเข้าใจให้ผู้ป่วยไปใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพตนเองที่บ้าน มีทีมสหวิชาชีพติดตามอย่างต่อเนื่องในชุมชน อันเป็นการลดการแออัดในโรงพยาบาลและเสริมสร้างให้ประชาชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ ส่วนกลุ่มที่สุขภาพดี ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป่วย ต้องมีระบบการคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และมีทีมสหวิชาชีพให้ความรู้เรื่องโรคและการป้องกันไม่ให้เป็น เราจะมีสื่อที่สอนเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ที่ประชาชนสามรถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งคิดว่าเมื่อได้ผลดีก็จะขยายสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าว