ไลฟ์สไตล์

หาความจริง 'หลง-หลินลับแล' (จบ)

หาความจริง 'หลง-หลินลับแล' (จบ)

21 มิ.ย. 2558

ท่องโลกเกษตร : ขึ้นดอยเข้า 'สวนทุเรียนร้อยปี' (จบ) หาความจริง 'หลง-หลินลับแล' : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                          รถปิกอัพขับเคลื่อนด้วยระบบ 4 ล้อ หรือ โฟร์วิลส์ไดรฟ์ 2 คัน ขยับตัวออกจากหมู่บ้านผามูบ ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ติดตีนดอยม่อนน้ำจำ แหล่งกำเนิดทุเรียนพื้นเมือง หลง-หลินลับแล ตะกุยขึ้นดอยตามเส้นทางอันคดโค้ง เลียบลำธารจุดหมายปลายทางของคณะเรา ที่ "สวนทุเรียนร้อยปี" ของข้าราชการคูรบำนาญ "ไพริน เรียนแผง" บนดอยที่บ้านห้วยทราย ต.แม่พูล ห่างจากหมู่บ้านผามูบไปราว 10 กม. 
 
                          ระหว่างขับรถขึ้นไปนั้น หากมองด้านซ้ายมือเป็นเหวลึก มองเบื้องไกลเห็นผืนป่ากว้างลิบๆ ยันสุดยอดดอย และในผืนป่ากว้างนั้น หากใช้สายตาอย่างพิถีพิถัน เราจะแลเห็นต้นทุนเรียนพื้นเมืองโผล่ยอดเหนือทิวป่าเป็นสีเขียวนวล และในจำนวนทุเรียนพื้นเมืองเห็นเหล่านี้ จะมีหลง-หลินลับแลแทรกอยู่ด้วย 
 
                          "สวนทุเรียนที่นี่ ต่างกับสวนทุเรียนทั่วไปที่ปลูกในภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมถึงที่ จ.นนทบุรี ด้วย เพราะที่อื่นจะเป็นสวนเชิงเดี่ยว หรือผสมผสานกับไม้ผลชนิดอื่นปลูกในพื้นที่ราบ ที่เจ้าของสวนต้องมาดูแลทั้งการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย แต่ที่นี่สวนทุเรียนหลง-หลินลับแลจะคละอยู่กับป่า เป็นสวนป่าทุเรียนที่กระจายตามยอดดอยต่างๆ เจ้าของสวนไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน เราอยู่กันในลักษณะคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ชาวบ้านช่วยดูแลป่า ดูแลต้นทุเรียนควบคู่กันไป ไม่มีการรดน้ำ ปล่อยให้เทวดาดูแลให้ อาจให้ปุ๋ยบ้างในบางแห่ง" บัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เล่าสู่กันฟังในระหว่างเป็นผู้นำทาง
 
                          จากการที่ชาวสวนทุเรียนลับแลนิยมทำสวนแบบปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งที่ บัญชา บอกว่า ทำให้เนื้อทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ อ.ลับแล มีรสชาติที่อร่อย เนื้อแน่น ได้ธาตุอาหารจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ประกอบกับสภาพดินของลับแลที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ จะเห็นได้จากทุเรียนหลง-หลินลับแล นำไปปลูกที่ภาคตะวันออก หรือพื้นที่อื่น รสชาติเพี้ยนไป สู้ที่ลับแลไม่ได้ รวมถึงทุเรียนหมอนทองที่ชาวลับแลนำพันธุ์มาจากภาคตะวันออก มาเสียบยอดทุเรียนพื้นที่เมืองที่ขึ้นตามป่า แต่ผลผลิตออกมาเนื้ออร่อยกว่าปลูกที่ภาคอื่น ทำให้ราคาหมอนทองที่ลับแลราคาแพงกว่าที่อื่น
 
                          "ตอนนี้หลายพื้นที่นำหลง-หลินลับแลไปปลูก แต่ผลผลิตออกมาไม่อร่อยเท่าที่ลับแล ผมอยากฝากไว้ว่า แม้พันธุ์ทุเรียนที่นำไปปลูกจะเป็นพันธุ์หลง-หลินลับแล แต่เมื่อออกผลผลิตแล้วรสชาติต่างกัน อยากให้บอกชื่อแหล่งปลูกด้วย อาทิ ปลูกที่จันทบุรี ควรบอกว่า หลง หรือหลินจันท์ อย่างที่พิษณุโลกเอาพันธุ์หลง-หลินลับแลไปปลูก รสชาติเพี้ยนไป มีการตั้งชื่อใหม่หลง-หลินรักไทย เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจถูก ฉะนั้นคนจะเหมารวมว่าเป็นหลง-หลินลับแลทั้งที่รสชาติต่างกัน ที่เหลวร้ายกว่านั้น มีบางคนนำทุเรียนหลง-หลินที่ปลูกจากที่อื่นมาขายที่ตลาดหัวดง อ้างเป็นทุเรียนปลูกที่ลับแล ตรงนี้ไม่ถูกต้อง ทำให้ภาพลักษณ์ของทุเรียนพื้นเมืองเสียหาย" บัญชา กล่าว
 
                          การเดินทางจากหมู่บ้านผามูบ แม้ระยะทางผ่านไปราว 10 กม. แต่เราใช้เวลาในการเดินทางพอสมควร กว่าจะถึงสวนทุเรียนร้อยปีของไพริน เนื่องจากตลอดเส้นทางต้องปีนขึ้นดอย และแล่นลงเนิน เอื้อต่อการขับรถอย่างช้าๆ เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง 
 
                          "สวนทุเรียนร้อยปี" อยู่ในป่าที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นลาดชัน กินอาณาบริเวณกว่า 40 ไร่ กลางสวนมีทางเข้าลัดเลาะตามขอบเนิน ขนาดกว้างราว 3 เมตร ด้านขวามือเป็นเนินเขา ส่วนด้านซ้ายมือเป็นเหวลึก มีต้นทุเรียนหลง-หลินลับแลขึ้นกระกระจัดกระจาย ประปราย ตามป่าเขาลำเนาไพร บางต้นสูงตระหว่างราว 30 เมตร มีอายุอานามกว่า 100 ปี ลึกเข้าไปมีโรงเรือนขนาดเล็กไว้เป็นพื้นที่สำหรับไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน
 
                          "ผมมีสวนทุเรียนทั้งหมด 6 แปลง รวมพื้นที่กว่า 100 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกหมอนทอง สำหรับแปลงแห่งนี้มีกว่า 40 ไร่ เป็นสวนมรดกที่มาจากครอบครัว เป็นสวนเก่าแก่ตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ภายในสวนมีหลินลับแล 25 ต้น หลงลับแล 50 ต้น ที่เหลือเป็นหมอนทองกว่า 80% นอกจากนี้ยังมีมังคุด 20 ต้น ลางสาด 30 ต้น ปลุกกระจัดกระจายตามป่า ต้นทุเรียนบางต้นมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว เป็นทุเรียนที่ปลูกยุคแรก หลังจาก พระศรีพนมมาศ นายอำเภอลับแล นำมาปลูกครั้งแรกเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน" ไพริน กล่าวระหว่างที่เราเดินชมสวน  
 
                          คงไม่แปลกที่ทุเรียนพื้นเมืองหลง-หลินลับแล ที่มีราคแพง เพราะคงไม่เพียงแต่มีรสชาติหวาน มัน อร่อย เนื้อแน่น ผิวแห้ง และกลิ่นน้อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หากแต่กว่าที่จะนำทุเรียนลงมาขายได้ เจ้าของสวนต้องขึ้นปีนต้นขึ้นไปตัดบนต้นสูง การลำเลียงลงสู่ตลาดก็ลำบาก บางแห่งต้องใช้เส้นสลิงเชื่อมระหว่างดอย เพื่อน้ำผลผลิตลงมา จากนั้นใช้รถจักรยานยนต์ลำเลียงเพื่อสู่ตลาด โดยมีตลาดหลักที่ขายกันที่ตลาดหัวดง อ.ลับแล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผลไม้ของเมืองแม่ม่ายแห่งนี้
 
                          ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเส้นทาง ในการที่จะจัด "โครงการเกษตรทัศนศึกษา" 2 วัน 1 คืน ไปยัง จ.พิจิตร เพื่อเรียนรู้ด้านมะนาวอย่างแท้จริง นับตั้งเรียนรู้เกี่ยวกับดินก่อนปลูกมะนาว การปลูกมะนาวอย่างถูกวิธี บังคับให้ออกผลนอกฤดูกับเทคโนโลยีใหม่ ปลูกในพื้นที่แคบแบบประหยัด การขยายพันธุ์แบบง่ายและรวดเร็วที่ จ.พิจิตร ก่อนจะเดินทางขึ้นดอยสัมผัสถึงแหล่งปลูก ชิมทุเรียนหลง-หลินลับแล ถึงในสวน หาซื้อไปฝากในราคาถูก ทั้งผลทุเรียน และกล้าพันธุ์
 
 
 
 
 
--------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : ขึ้นดอยเข้า 'สวนทุเรียนร้อยปี' (จบ) หาความจริง 'หลง-หลินลับแล' : โดย...ดลมนัส กาเจ)