ไลฟ์สไตล์

รู้ทันมะเร็ง : มะเร็งกล่องเสียง

รู้ทันมะเร็ง : มะเร็งกล่องเสียง

29 พ.ค. 2558

รู้ทันมะเร็ง : มะเร็งกล่องเสียง : นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

 
           กล่องเสียงอวัยวะส่วนต้นของทางเดินหายใจต่อกับหลอดลมที่ลมหายใจต้องผ่านเข้าออก ตำแหน่งของกล่องเสียงอยู่ตรงกับตำแหน่งลูกกระเดือก ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของกล่องเสียง และยังมีสายเสียงซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ เป็นส่วนประกอบภายในของกล่องเสียงด้วยเช่นกัน กล่องเสียงจึงเป็นอวัยวะสำคัญในการเปล่งเสียง ซึ่งเกิดจากการที่ลมจากในปอดผ่านสายเสียงที่มีการขยับเกิดการสั่น ทำให้เกิดเสียงสูงเสียงต่ำตามความตึงความหย่อนของสายเสียง
 
           มะเร็งของกล่องเสียงแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย ไม่ติดหนึ่งในห้าอันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทยก็ตาม แต่ก็พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากการสูบบุหรี่จัดจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนี้แล้ว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็เป็นสาเหตุสำคัญเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเสียงแหบโดยไม่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วยนานกว่า 2 สัปดาห์ และไม่มีสาเหตุที่ทำให้เสียงแหบชัดเจน เช่น ใช้เสียงมากหรือมีการอักเสบหรือระคายเคืองของทางเดินหายใจส่วนบน ในรายที่มีการลุกลามมากขึ้นอาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง มีความรู้สึกไม่สบายในลำคอเหมือนมีก้างติดคอ กลืนอาหารลำบาก หายใจขัดหายใจลำบาก มีเสมหะปนเลือด มีก้อนที่ด้านข้างคอโตจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง การวินิจฉัยโรคก็ไม่ยุ่งยากอะไร ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้กระจกส่องดูกล่องเสียง ดูลักษณะของกล่องเสียงว่ามีเนื้องอกผิดปกติหรือไม่ ทั้งในขณะที่ผู้ป่วยหายใจเข้าออกและตอนเปล่งเสียง ในบางรายอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจดูบริเวณกล่องเสียง ในกรณีที่ตรวจดูกล่องเสียงยากหรือตรวจด้วยกระจกไม่ได้
 
           ส่วนการรักษาหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น เช่น เนื้องอกอยู่ที่ตำแหน่งของสายเสียง พวกนี้จะแสดงอาการตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดได้มาก การรักษาน้อยๆ ตั้งแต่การใช้เลเซอร์ การใช้รังสีรักษาหรือการผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนก็เพียงพอ ไม่มีปัญหาเรื่องการพูดหรือการหายใจแต่อย่างไร แต่ในกรณีที่เป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งอื่นของกล่องเสียง อาการเสียงแหบมักจะแสดงออกในระยะที่โรคลุกลามแล้ว นอกจากการตัดกล่องเสียงออกทั้งหมดแล้ว อาจต้องตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือใช้การฉายรังสีร่วมด้วย เมื่อกล่องเสียงถูกตัดทิ้งไปทั้งหมด ก็ต้องเอาส่วนของหลอดลมมาเปิดที่ลำคออย่างถาวรเพื่อให้อากาศผ่านเข้าออกโดยตรงและแน่นอนที่สุด คือไม่สามารถพูดได้เหมือนอย่างเคย ส่วนใหญ่ต้องฝึกพูดโดยการสร้างเสียงจากหลอดอาหารแทน ทำให้คุณภาพเสียงไม่เหมือนเสียงที่ผ่านกล่องเสียงตามปกติ
 
           จำไว้นะครับ หากอยู่ดีๆ มีอาการเสียงแหบชนิดที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน หรือมีความรู้สึกไม่สบายในลำคอเหมือนมีก้างติดคอนานเกิน 2 สัปดาห์ก็อย่าเพิกเฉย รีบไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก ให้ส่องตรวจดูภายในลำคอบริเวณกล่องเสียงเพื่อความสบายใจ ไม่ใช่แค่ตรวจคอเฉพาะภายนอกแบบทั่วไปนะครับ...ขอบอก