ไลฟ์สไตล์

ยุบรวม!ก่อตั้งม.กาฬสินธุ์ตอบโจทย์สนองความต้องการคนอีสาน

ยุบรวม!ก่อตั้งม.กาฬสินธุ์ตอบโจทย์สนองความต้องการคนอีสาน

26 พ.ค. 2558

ยุบรวม!ก่อตั้งม.กาฬสินธุ์ ตอบโจทย์สนองความต้องการคนอีสาน : ชมพิศ ปิ่นเมืองรายงาน

             การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นการควบรวม 2 สถาบันการศึกษาในจ.กาฬสินธุ์ อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์ และมหาวิทยลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เพื่อจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ...ที่นำโดย ตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการที่เดินทางมาพร้อมคณะกรรมาธิการแบบพร้อมหน้าพร้อมตา

             ทั้งที่ มรภ.กาฬสินธุ์ และที่ มทร.กาฬสินธุ์ ซึ่งผู้บริหารสถาบันทั้ง 2 แห่งไม่ว่าจะเป็น รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ รักษาราชการแทน มรภ.กาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกาฬสินธุ์ รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนร่วมพูดคุยด้วยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 หลังจากมีการระบุว่าจะควบรวมมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งเอาไว้ด้วยกัน พร้อมข่าวลือว่าอาจจะย้าย มรภ.กาฬสินธุ์ จากเดิมอยู่ อ.สมเด็จ ไปอยู่ที่ อ.สหัสขันธ์ ด้วย

             เรื่องนี้ ตวง กล่าวว่า ภายหลังที่ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์วาระที่ 1 ผ่านมติ ครม.คนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องมีกระแสวิพากษ์มากมายทั้งในส่วนของข้าราชการประชาชน และผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง ความกังวลที่เกิดขึ้นทั้งผลกระทบด้านสถานที่บุคลากรและหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นเหตุผลที่คณะกรรมาธิการต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกๆ กลุ่ม ข้อมูลที่ได้จะเป็นการยืนยันถึงความพร้อมและการตอบรับที่ดีของพื้นที่ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนถึงการควบรวมมหาวิทยาลัย 2 แห่งเพื่อเป็นไปตามยุทธศาสตร์ตอบสนองความต้องการของประชาชนในกาฬสินธุ์

             “การลงพื้นที่อีกครั้งของกรรมาธิการชุดนี้ก็เพื่อย้ำเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง ม.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นทางแก้ทางรอดทางเดียวในสถานการณ์เช่นนี้เพราะหากไม่มีการหลอมรวมมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งจะอยู่ต่อไม่ได้ทั้งด้านการบริหารและงบประมาณอนาคตก็จะถูกยุบโดย สกอ.เช่นเดิม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งไม่สามารถอยู่ต่อในกระแสสังคมในขณะนี้ได้ เพราะไม่สามารถหาตัวตนของมหาวิทยาลัยตนเองได้อย่างแท้จริง ทางเลือกทางรอดคือคุณภาพที่จะการันตีคือคุณภาพของบุคลากรคุณภาพของการศึกษา เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้ ม.กาฬสินธุ์ ตอบสนองและตอบโจทย์ของปรัชญามหาวิทยาลัยได้เรื่องของเกษตรอุตสาหกรรม เรื่องประเพณีวัฒนธรรม อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่" ตวง กล่าว 

             ในขณะที่ สุดใจ จันทะมุด ประธานเครือข่ายประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในหนังสือเรื่องเจตนารมณ์และความประสงค์ของชาว จ.กาฬสินธุ์ ต้องอ้างถึงบันทึกสัตยาบันที่ จ.กาฬสินธุ์ และเครือข่ายประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ได้ทำร่วมกันไว้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 โดยการรวมมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกันต้องไม่มีการยุบหรือย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยไปยังสถานที่แห่งใหม่ต้องมีการตั้งตัวแทนเครือข่ายประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ เป็นกรรมาธิการทุกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นประกอบพิจารณา พ.ร.บ.ม.กาฬสินธุ์ พ.ศ......และให้ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเยียวยาบุคลากรมหาวิทยาลัยที่ถูกสั่งสอบสวนจากการดำเนินกิจกรรมคัดค้าน พ.ร.บ.ม.กาฬสินธุ์ โดยให้ดำเนินการหลัง พ.ร.บ.ม.กาฬสินธุ์ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

             “ทราบว่าการลงพื้นที่จะมีการออกไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่ศูนย์วิจัยภูสิงห์นิคมลำปาว อ.สหัสขันธ์ โดยข้อมูลที่คณะกรรมาธิการต้องรับรู้คือพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่ถึงพันไร่ทั้งเตรียมขยายพื้นที่ลงในทะเลสาบตามแผนผังและโครงสร้างการก่อสร้างแต่ที่ตั้ง มรภ.กาฬสินธุ์ เดิมมีเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ และมีการก่อสร้างอาคารมากมายใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลขณะที่สถานที่ก่อสร้างแห่งใหม่การคมนาคมไม่สะดวกอยู่ห่างไกล การเดินทางลำบาก ซึ่งสิ่งที่เครือข่ายประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ทำวันนี้ก็เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการควบรวมมหาวิทยาลัยครั้งนี้” สุดใจ กล่าว

             และนี่คือความเห็นและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและพร้อมรอฟังเสียงคนกาฬสินธุ์และผู้ตัดสินใจระดับนโยบายบาย ว่าจะทำอย่างไรดีกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์แห่งนี้