
100ปีรวมญาติราชสกุลวรวรรณ
27 พ.ค. 2558
โซไซตี้ : 100 ปีรวมญาติราชสกุล วรวรรณ
ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศพระราชทานนามสกุล “วรวรรณ” ตามประกาศครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2485 แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 56 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเขียน
เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ทางราชสกุลวรวรรณ จึงจัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่พระวิหารวัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ อาทิ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร, พระธรรมธัชมุนี วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, พระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นต้น โดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานในพิธีท่ามกลางบรรดาวงศาคณาญาติที่มาร่วมงานบุญครั้งนี้อย่างคับคั่ง อาทิ "คุณหญิงแดง" ม.ร.ว.ลภาพรรณ-ม.ร.ว.วรวัลล-ม.ร.ว.ชาญวุฒิ-ม.ร.ว.จักรินทร์-ม.ร.ว.สาวิกา -คุณชายตุ้ย" ม.ร.ว.เปรมการ วรวรรณ, "คุณหญิงใหญ่" ม.ร.ว.อัศวินี สนิทวงศ์, "คุณหญิงแดง" ม.ร.ว.นิติมา พนมยงค์, "คุณหญิงนาว" ม.ร.ว.ดัชฉราพิมล รัชนี, "คุณหญิงหนิง" ม.ร.ว.ภวรี-ดร.กฤษดา สุชีวะ, ม.ร.ว.ทัชวรรณ สายเชื้อ, "คุณหญิงนิด" ม.ร.ว.มลุลี สายาลักษณ์, ท่านผู้หญิงวิวรรณ-จิตริก เศรษฐบุตร, หม่อมอรุณ จันทวงศ์, "เหมียง" วิมลภัทร์-"ตู่" ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สาน, "ทัก" สุบดี-"แนน" ชนระดี-"แอม" เดชชัย ตุงคนาค, "ดา" ภดารี-เรไร บุนนาค เป็นต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ พระบิดาแห่งการละครร้อง ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวรวรรณากร ประสูติเมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2404 สมัยที่ทรงพระเยาว์ ทรงสนพระทัยในศิลปะ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภาษา ทรงเริ่มรับราชการที่หอรัษฎากรพิพัฒ เป็นพนักงานการเงินฝ่ายสกุลเงินต่างประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม เป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี 2432 และทรงดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาในปี 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นกวีและนักประพันธ์ ทรงแปลและดัดแปลงหนังสือภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยรวมทั้งสิ้นกว่า 100 เรื่อง ผลงานที่รู้จักกันดี อาทิ บทละครพูดเรื่องสร้อยคอที่หาย, บทละครร้องสาวเครือฟ้า พระลอ พันท้ายนรสิงห์ ไกรทอง เป็นต้น ทั้งยังทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในพระตำหนักที่ประทับวังแพร่งนรา ชื่อว่าโรงละครปรีดาลัย ซึ่งเป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยามด้วย