
เปิดศูนย์วิจัยฯน่านส่งเสริมอาชีพ แปรรูป 'ลูกต๋าว'
26 พ.ค. 2558
ทำมาหากิน : เปิดศูนย์วิจัยฯน่านส่งเสริมอาชีพ แปรรูป 'ลูกต๋าว' สู่ผลิตภัณฑ์เด่น : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
แม้จะเป็นไม้ป่า แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านบนพื้นที่สูงในจ.น่านได้เป็นอย่างดี สำหรับ "ต๋าว” หรือ "มะต๋าว" ที่คนภาคกลางเรียกว่า “ลูกชิด” ไม้ป่าชนิดหนึ่งที่พบมากในเขตภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่จ.น่านบริเวณผืนป่าที่มีความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปัจจุบันมีการนำต๋าวมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้าน โดยการสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน
"ต๋าวหรือมะต๋าว เป็นไม้ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บมาขายนานแล้ว โดยเฉพาะในอ.บ่อเกลือ เมื่อก่อนชาวบ้านเข้าไปเก็บในป่าแล้วมาต้มขาย กิโลก็ประมาณ 30-40 บาท เราก็เห็นว่าน่าจะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ จากนั้นก็ให้ทางเคหกิจเข้าไปส่งเสริมในการแปรรูป ก็มีทั้งเชื่อม อบแห้ง แล้วก็ผสมสีธรรมชาติเช่นอัญชัน ใบเตยหอม ขมิ้น เพื่อให้มีสีที่หลากหลายดึงดูดผู้บริโภค"
ชนะรบ คำพับ นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน ซึ่งรับผิดชอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จ.น่าน เผยถึงการสนับสนุนการแปรรูปต๋าวให้ชาวบ้านในพื้นที่ระหว่างนำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงในงานเปิดบ้านงานวิจัยประจำปี 2558 ณ กรมวิชาการเกษตร ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม โดยยอมรับว่าขณะนี้ต๋าวในพื้นที่จ.น่านได้เริ่มลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต๋าวเป็นพืชพิเศษเมื่อออกลูกจนถึงพื้นดินต้นจะตายในทันที ขณะเดียวกันการบุกรุกทำลายป่าก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นต๋าวมีจำนวนลดลง จึงให้ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่านนำกล้าพันธุ์มาทดลองปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
"สมัยท่านผอ.เอนก บางข่า มองว่าหากไม่มีการอนุรักษ์ อีกไม่กี่ปีต๋าวก็คงจะหายไปจากผืนป่า จึงได้ไปเอาต้นพันธุ์มาจากป่าในพื้นที่อ.บ่อเกลือ ภูฟ้ามาปลูกข้างล่างในพื้นที่อนุรักษ์ของศูนย์วิจัยประมาณ 200 ต้น ขณะนี้ก็บางต้นก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่จะนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ต่อเพื่อนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก แต่ต้องดูพื้นที่เหมือนกันว่าเหมาะหรือไม่ เพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ"
นักวิชาการเกษตรคนเดิมระบุอีกว่า สำหรับการขยายพันธุ์ต้นต๋าวนั้นจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี แต่หากอยู่ในป่าธรรมชาติกว่าจะให้ผลผลิตก็นานถึง 5-6 ปี เนื่องจากไม่ได้มีการดูแล โดยต้นต๋าวนี้จะขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด แต่ถ้าในป่าธรรมชาติเมล็ดแก่จะตกหล่นใต้ต้นก็จะทำหน้าที่ขยายพันธุ์ต่อไป ส่วนต้นต๋าวที่นำมาเพาะขยายพันธุ์ภายในศูนย์ขณะนี้ก็พร้อมที่จะแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป
สำหรับต้นต๋าวนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะเร็นกา พินนาตา (Arenga pinnata Merr.) อยู่ในวงศ์ Palmae เป็นพืชในตระกูลเดียวกับมะพร้าว ตาลและปาล์ม มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินเดีย ลักษณะลำต้นสูงตระหง่านประมาณ 15-20 เมตร ใบเป็นแพกว้างแต่ละทางมีความยาวประมาณ 6-10 เมตร ให้ความชุ่มเย็น ออกลูกเป็นทะลายใหญ่ ดอกของต้นต๋าวเป็นแบบสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ช่อดอกหนึ่งจะยาวประมาณ 2-3 เมตร ดอกต๋าวมีสีขาวขุ่น เมื่อโตเต็มที่จะออกดอกทีละทะลาย เมื่อดอกเจริญกลายเป็นผลสุกแก่เต็มที่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะเริ่มออกดอกทะลายใหม่ต่อไป โดยเฉลี่ย 2 ทะลายจะได้ 1 ถังหรือประมาณ 15 กิโลกรัม
----------------------
(ทำมาหากิน : เปิดศูนย์วิจัยฯน่านส่งเสริมอาชีพ แปรรูป 'ลูกต๋าว' สู่ผลิตภัณฑ์เด่น : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)