
ภาษาเป็นสิ่งจำเป็น'เด๊ะมะ'เด็กม.อัลอัซฮัร
เปิดโลกการศึกษามุสลิมตอน: ภาษาเป็นสิ่งจำเป็น'เด๊ะมะ'เด็ก ม.อัลอัซฮัร
หลายคนยังไม่เข้าใจการศึกษาศาสนาดีนัก ไม่ว่าจะเป็นคนอิสลามเองในยุคปัจจุบันนี้ หลายคนจึงมองข้ามสิ่งที่ดีที่ซ่อนอยู่ในชุดแต่งกาย หรือภาพลักษณ์ที่คอยตอกย้ำของชีวิตชาวชนบททั่วไป ที่ดูเหมือนไม่มีความมั่นคงในอาชีพการงานและไม่มีหน้าตาในสังคมที่กว้างขวางพอ แต่จริงๆแล้ว ความลับก็ยิ่งถูกเปิดเผยขึ้นมาทีละนิด คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม คือหนึ่งกระบอกเสียงที่คอยสืบ สอดส่อง ให้ทุกคนได้เห็นว่า ความจริงแล้วการเรียนศาสนา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอัซฮัร คือ สถาบันสอนคนให้เป็นคน สอนคนให้เต็มคน
วันนี้เปิดโลกการศึกษามุสลิม ขอนำเสนอ นักศึกษาศาสนา ม.อัลอัซฮัร คนหนึ่ง อายุยี่สิบกว่า เป็นผู้ใหญ่เกินกว่าที่คิด และเดินทางไปหลายประเทศ ใช้ชีวิตแบบฉบับวัยรุ่นยุคใหม่ แต่ใส่ใจศีลธรรม ทางเดินของเขาจึงเต็มไปด้วยการเรียนรู้และมองโลกอย่างมีเหตุผล เพราะ ม.อัลอัซฮัร ทำให้เขาหายใจได้อิสระและพร้อมจะบินไปสู่โลกกว้างอย่างมั่นคงและมั่นใจ
“อียิปต์ ได้สอนผมมากมายในการใช้ชีวิต ไม่ได้สอนแค่ความรู้อย่างเดียว แต่สอนการใช้ชีวิตในสังคม สอนให้มีความอดทน อดทนกับความลำบาก อดทนกับการเรียนที่ยากที่สุด และสิ่งสุดท้ายสอนให้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสบายๆ พร้อมมีความหวังอยู่เสมอ”
“ยุทธนา ยูโซะ” หรือ “เด๊ะมะ” เป็นลูก อับดุลอายิบ และกามาริยะ ยูโซะ เป็นคน จ.สงขลา มีพี่น้องสามคน เริ่มเรียนประถมที่โรงเรียนกฤษณาวิทยา จ.สงลา และศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสันติศาสตร์ศึกษา จ.สตูล ปัจจุบันศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร คณะนิติศาสตร์อิสลาม ปี 4 สอบผ่านทุกปี ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 5 ในการมาใช้อยู่ในประเทศอียิปต์ แต่เป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่า เพราะต้องเดินทางอยู่ตลอด ไปเที่ยวบ้าง ไปติดต่องานเองบ้าง หรือไปเรียนพิเศษภาษา ไม่เคยคิดจะขอเงินพ่อแม่ใช้ฟรี หรือปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
“เด๊ะมะ” เล่าว่า น้าเป็นเจ้าของบริษัททัวร์นำคนไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ พอไปถึงที่ซาอุฯ น้าทิ้งให้อยู่คนเดียวที่โรงแรม ตอนนั้นตัวเองพูดได้แค่ภาษาไทยกับมลายู และรู้สึกว่าโง่มากเลยที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนใครได้ เหมือนตัวเองเป็นใบ้ และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ให้เด๊ะมะพยายามอย่างหนักในเรื่องภาษา ปัจจุบันนี้เด๊ะมะพูดได้ 4 ภาษา คือ ไทย มาลายู อังกฤษ อาหรับ และจีนเล็กน้อย และเดินทางไปต่างประเทศมาแล้วถึง 13 ประเทศ อียิปต์ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี รัสเซีย โอมาน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กาตาร์
“เด๊ะมะ” ย้ำว่า ไม่ได้เป็นคนรวย แต่เพราะภาษาทำให้มีงานเข้ามาและเป็นงานที่เลือกทำได้ถ้าพอใจและเป็นธุรกิจของตัวเองเล็กๆ น้อยๆ
โลกปัจจุบัน “ภาษา” ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจ หรือการท่องเที่ยว เพราะปีหน้าเราจะเป็นประชาคมอาเซียน นั่นหมายความว่า มีโอกาสที่จะทำงานในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ถ้ามีทักษะเรื่องภาษามากกว่าคนอื่น การเรียนภาษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก การศึกษาในห้องเรียนในยุคปัจจุบันคงไม่พอ ควรที่จะควบคู่กับการเรียนนอกห้องไปด้วย เพราะยุคนี้ความรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้จากนอกห้องเรียนและเป็นความรู้ที่ใช้ในชีวิตจริง
“เด๊ะมะ” มองการศึกษาและสังคมไทยว่า นักเรียนในประเทศไทยไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการแชร์ความคิด ครูจะเป็นคนป้อนให้เพียงฝ่ายเดียว ระบบการศึกษาไทยก็จะเน้นการท่องจำ ทำการบ้าน ค่านิยมที่อยากให้ลูกจบปริญญา และโดยเฉพาะคนไทยเลี้ยงลูกไม่ถูกทาง ท้ายสุดไม่ค่อยอดทนในการคิดแก้ปัญหา
“เด๊ะมะ” ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากฝากบอกน้องๆ ต้องรักษาเวลา จัดระเบียบให้ตัวเอง ทั้งการเรียนในห้อง และการออกไปดูโลกภายนอก การทำงานพิเศษ คือการเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และต้องรู้จักเก็บออม และต่อยอดชีวิตของตัวเองด้วยการทำสิ่งที่ตัวเองถนัด สำหรับเด๊ะมะแล้ว ชอบการค้าขายและคอยเสาะหาตลาด โดยนำของไปขายในช่วงที่เดินทาง แค่นี้ก็มีกำไรพอที่จะไปเที่ยวรอบโลกแบบแบ็กแพ็กเกอร์ได้สบาย ได้ทั้งภาษา ทั้งเงินทอง และได้เดินทางรอบโลกเป็นของขวัญให้แก่ตัวเอง
คติประจำใจของ "เด๊ะมะ” คือ ไม่มีคำว่าสายหากเราได้เริ่ม ไม่มีคำว่าอยู่ที่เดิมหากเราได้ค้นหา ไม่มีคำว่าเป็นที่หนึ่งหากเรายังต้องพึ่งพา ไม่มีคำว่าดีกว่าหากเราไม่ตั้งใจ