
สมเด็จพระเทพฯทรงตระหนักถึงแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์
19 พ.ค. 2558
สมเด็จพระเทพฯ ทรงตระหนักถึงแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากหลายสาขา อย่างงานด้าน “พิพิธภัณฑ์” ก็เป็นโครงการตามพระราชดำริที่สำคัญด้านหนึ่ง เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่สังคมไทย เนื่องในโอกาสที่ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เปิดดำเนินการมาครบ 3 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้จัดเสวนาเรื่อง “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานด้านพิพิธภัณฑ์” เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความสนพระราชหฤทัยและพระอัจฉริยภาพในด้านที่ทรงมีความรอบรู้และเข้าใจงานพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี โดยมี คุณชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยถวายงานในด้านพิพิธภัณฑ์ร่วมเป็นวิทยากร ที่ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เมื่อวันก่อน
คุณชวลี อมาตยกุล เปิดประเด็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเนื่องจากเวลามีน้อย จะทรงสนพระราชหฤทัยไม่กี่ที่ นั่นคือ สวน, ร้านหนังสือ, พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์มาแล้วทั่วโลก ทำให้ทรงมีความรอบรู้และเข้าใจงานพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี มีพระราชดำริว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บรวบรวมสิ่งของ แต่ต้องเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย จึงทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำการบริหารจัดการงานพิพิธภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานต่างๆ และยังทรงพระราชดำริสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ 5 แห่งที่ทรงมีพระราชดำริในการก่อตั้ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย, พิพิธภัณฑ์บัว และพิพิธภัณฑ์พระตำหนักบ้านสวนปทุม
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า...อยากให้วังสระปทุมเป็นพิพิธภัณฑ์ถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า...สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนองพระราชดำรินั้นด้วยทรงดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงรับสั่งว่า...จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติของสมเด็จพระพันวัสสาฯ...จึงมีการนำของเก่าเก็บมาทำทะเบียนแล้วจัดแสดง ซึี่งการซ่อมบำรุงแบบอนุรักษ์ต้องคงสภาพเหมือนเดิมมากที่สุดแต่ให้ใช้งานได้ด้วย เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดและทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ทรงแนะนำว่าในตู้ควรมีอะไรจัดแสดงบ้าง ทรงพระเกษมสำราญอย่างมาก
แต่ก่อนเริ่มทำพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโอกาสให้ดิฉันและคุณไหม (ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย) ตามเสด็จไปชมพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ดมิวเซียมที่อังกฤษ ดูเรื่องของการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าการจัดแสดงที่ดีควรเป็นอย่างไร ในส่วนของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ค่อนข้างส่วนพระองค์ การจัดแสดงทั้งหลายได้ไอเดียมาจากอังกฤษหรือที่จีนที่มีการจำลองของจัดแสดงมาโชว์ทุกอย่างต้องไม่ไปขัดแย้งกับการจัดแสงและต้องไม่ทำให้วัตถุเสียหายระหว่างจัดแสดง นี่คือการเตรียมการของพระองค์ท่านว่าต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไรแล้วเตรียมไปตามนั้น อย่างตอนไปดูพิพิธภัณฑ์ของฟรอยด์ จะมีแฟมิลี่ ทรี (แผนภูมิการลำดับญาติ) ก็ได้ไอเดียมาจัดแสดง ที่ยุโรปมักปลูกฝังให้เด็กสนใจพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง สังเกตได้ว่าแทบทุกแห่งจะมีเด็กๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ บางพิพิธภัณฑ์มาร่วมทำกิจกรรมได้ อย่างการวาดภาพ การประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ" คุณชวลี กล่าวพร้อมเสริมว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งจะทำอย่างไรที่จะปลูกจิตสำนึกการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ บ่อยครั้งที่ทรงพานักเรียนนายร้อยฯ ที่ลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาชมพิพิธภัณฑ์พร้อมกับทรงบรรยายด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งทุกวันนี้เมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานสอนบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์โดยตรง จึงทรงคัดเลือกคนแล้วส่งไปฝึกอบรมที่หน่วยงานอนุรักษ์ ม.ศิลปากร อีกทั้งส่งไปฝึกงานอนุรักษ์์ที่ชิคาโก เพราะงานพิพิธภัณฑ์ถ้าจัดเก็บไม่ดีก็จะไม่มีสิ่งของดีๆ มาจัดแสดง
ด้าน ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ซึ่งมีโอกาสตามเสด็จไปชมพิพิธภัณฑ์มาแล้วทั่วโลก เสริมว่า ที่โปรดทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นั้นเนื่องจากเป็นสถานที่บันทึกความรู้ของคน เพราะคนไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยสันชาตญาณอย่างเดียวแต่อยู่เพื่อสั่งสมความรู้ไปพร้อมกัน อย่างพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่เป็นสิ่งบันทึกความเจริญของคน ขยายความให้เข้าใจง่ายคือผ้าที่ใช้ในโอกาสต่างๆ มีที่มาที่ไป อย่างสังคมไทยมักมอบผ้าผืนใหม่ให้ผู้ใหญ่ในโอกาสสำคัญ เป็นต้น ผ้าจึงบันทึกความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นการประมวลสติปัญญาของมนุษย์
“จริงๆ แล้วคนเราไม่มีอนาคต สิ่งที่เรารู้ได้มากคืออดีต เวลาเสด็จจะไม่ทอดพระเนตรเฉพาะสิ่งของจัดแสดงแต่ทอดพระเนตรที่มาที่ไปของการได้มาด้วย ตั้งแต่หา เก็บ รู้ที่มาที่ไป เพราะหากไม่รู้ที่มาก็คงไม่มีคุณค่า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้รับพระกรุณาธิคุณทรงแนะนำมากมาย ทรงรับสั่งอย่าไปกังวลว่าอะไรดีไม่ดีแต่ให้ดูทุกอย่างที่เป็นความรู้ ทว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือดูแล้วไม่กระตุ้นปัญญาเลย วัฒนธรรมที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือการพูดคุยกัน สัมมนา ดูว่าตามหลักฐานเป็นอย่างไร ความเห็นที่หลากหลายทำให้เกิดความสมบูรณ์ทางความคิด พิพิธภัณฑ์เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักคิดและไมาเอนเอียงมาก” คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว