ไลฟ์สไตล์

รวม'สวนลำไย'สู่เกษตรแปลงใหญ่ สนองรัฐแก้ปัญหา'ราคา-ล้นตลาด'

รวม'สวนลำไย'สู่เกษตรแปลงใหญ่ สนองรัฐแก้ปัญหา'ราคา-ล้นตลาด'

14 พ.ค. 2558

ทำมาหากิน : รวม 'สวนลำไย' สู่เกษตรแปลงใหญ่ สนองรัฐแก้ปัญหา 'ราคา-ล้นตลาด' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                           การส่งเสริมการจัดการบริหารการเกษตรแบบ "แปลงใหญ่" ตามนโยบายรัฐบาล เริ่มมีผลให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว หลังกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีการนำร่องการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน อ.แม่ทา จ.ลำพูน จำนวน 639 ราย รวมพื้นที่กว่า 5,539 ไร่ ในการส่งเสริมใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิต เช่น จีเอพี ออร์แกนิก และเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงตลาดให้ โดยมีเกษตรอำเภอแม่ทา ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการแปลง
 
                           โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.ลำพูน ว่าการดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของเกษตรกรใน ต.ทากาศ อ.แม่ทา ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากผลผลิตลำไยนอกฤดูในช่วงที่ผ่านมา มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 7,031 ตัน ราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 38-40 บาท คิดเป็นมูลค่า 307 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดเหมือนที่ผ่านมา
 
                           "ที่นี่สามารถใช้เป็นแปลงตัวอย่าง เป็นแปลงเรียนรู้ เป็นแปลงดูงานให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีระบบการบริหารจัดการผลผลิตแบบครบวงจร เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย จึงไม่มีปัญหาเรื่องราคาและการตลาด"
 
                           ขณะที่ ณรงค์ อ่อนสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการลำไยของจังหวัดว่าได้กำหนดไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประการแรกการบริหารจัดการผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยให้ดีขึ้น โดยต้องทำลำไยคุณภาพให้ได้เกรด AA มากกว่าร้อยละ 20 ของการผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดู ประการต่อมาการบริหารจัดการตลาด โดยสร้างมูลค่าเพิ่มในลำไยให้มากขึ้น ประการที่สามการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและงานวิจัยที่ทันสมัยและประการสุดท้ายการส่งเสริมทำลำไยแปลงใหญ่ นอกจากบริการจัดการผลผลิตง่ายแล้วยังจัดให้มีท่องเที่ยวเชิงเกษตรในสวนลำไยเพื่อเกษตรกรจะได้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
                           ผู้ว่าฯ ลำพูน ยังระบุตัวเลขเกษตรกรปลูกลำไยใน จ.ลำพูนว่าปัจจุบันมีจำนวนกว่า 32,500 ราย กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ บนเนื้อที่ประมาณ 271,040 ไร่ ในปี 2558 (ม.ค.-มี.ค) มีลำไยนอกฤดูออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 225,859 ตันเกินกว่าความต้องการของตลาด จึงทำให้มีการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า มีทั้งลำไยอบเนื้อทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง  โดยเฉพาะเตาอบลำไยเนื้อสีทองนั้นขณะนี้มีทั้งสิ้น 619 เตา มีทั้งการใช้ฟืน ใช้แก๊ส ใช้ไฟฟ้าและระบบอินฟาเรดสามารถอบลำไยได้ 649,000 กิโลกรัมต่อวัน โดยลำไยสด 10 กิโลกรัมสามารถทำเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองได้ 1-1.3 กิโลกรัม ในรอบ 1 ปีเตาอบลำไยสามารถรองรับผลผลิตลำไยที่ออกสู่ตลาดในฤดูกาลได้ถึง 29,205,000 กิโลกรัมต่อวัน ส่งผลให้ราคาลำไยสดสูงขึ้นด้วย
 
                           ด้าน ดำรง จินะกาศ เกษตรกรแกนนำในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรประเภทลำไย ยอมรับว่านับว่าโชคดีที่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่้ให้ความร่วมมือในการดำเนินการจัดการลำไยแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ผลผลิตลำไยนอกฤดูในฤดูการผลิตที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในเรื่องราคาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและมีอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าได้เพิ่มขึ้นด้วย
 
                           "พื้นที่ปลูกลำไยแปลงใหญ่ครอบคลุม 4 ตำบลใน อ.แม่ทา พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่เรียกกันว่าหุบเขามังกร และจะเน้นผลผลิตลำไยนอกฤดูเป็นหลักเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาด้านราคาและผลผลิตล้นตลาด" เกษตรกรคนเดิมกล่าวย้ำ
 
                           เกษตรแปลงใหญ่ลำไยลำพูน นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาดแล้วยังเป็นการยกระดับเกษตรกรสู่นักบริหารจัดการสินค้าเกษตรมืออาชีพอีกด้วย
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ทำมาหากิน : รวม 'สวนลำไย' สู่เกษตรแปลงใหญ่ สนองรัฐแก้ปัญหา 'ราคา-ล้นตลาด' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)