
เล่าเรื่องยางรักผ่านงานศิลป์
30 เม.ย. 2558
ศิลปวัฒนธรรม : เล่าเรื่อง ยางรัก ผ่านงานศิลป์
“ภูมิปัญญา” เป็นการถ่ายทอดทักษะความรู้ ความสามารถสืบสานต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ทำกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณี แถมยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างชาติอีกด้วย อย่างเรื่องของการใช้ยางจาก “ต้นรัก” มาทำงานหัตถศิลป์ เครื่องมือใช้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนโบราณ หรือแม้แต่สิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงการ “ลงรักปิดทอง” ที่เคยได้ยินกัน แต่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าเป็นเช่นไร
เราได้มีโอกาสเยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดแสดงของสวยงามเก่าแก่ล้ำค่า ที่จัดขึ้นโดยมิวเซียมสยามพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ภายใต้ชื่อ “ห ลง รัก” ที่ว่าด้วยเรื่องราวของวัฒนธรรมรัก ที่ได้จากต้นรัก โดยนิทรรศการนี้จัดแสดงงานหัตศิลป์ของชาติต่างๆ ที่เคลือบจากน้ำยางรัก ข้าวของเครื่องใช้ของภาคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเคลือบยางรัก ภาพวาดจากยางรัก เป็นต้น โดยจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 28 มิถุนายนนี้
ชุตินันท์ กฤชนาวิน นักวิชาการช่างศิลป์ปฏิบัติการ สังกัดศูนย์ศิลปะการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ที่ใช้น้ำยางรักในการสร้างสรรค์ผลงานเล่าให้ฟังว่า ต้นรักเป็นไม้ยืนต้น ตระกูลเดียวกับพวก มะม่วง มะปราง มะกอกป่า ปัจจุบันยางรักที่เป็นของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น หาซื้อยากมาก เพราะว่ามีราคาแพง ส่วนมากจะเจอแต่รักปลอม
“การจะเก็บน้ำยางรักจะทำได้เพียงแค่ในช่วงฤดูของยางเท่านั้น ในช่วงของเดือนพฤศจิกายน และมีระยะเวลาเก็บได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น คือในช่วงหน้าหนาวถึงจะได้น้ำยางรักที่ดี ปริมาณมาก การกรีดน้ำยางรักจะต้องกรีดต้นรักเรียกกันว่าแผล ต้นหนึ่งจะมีแผลได้ประมาน 3 ครั้งเท่านั้น โดยการกรีดจะไม่ทำในบริเวณใกล้กัน เพราะจะได้น้ำยางน้อย เป็นลักษณะพันธุศาสตร์ของต้นรักและในประเทศไทยจะกรีดในลักษณะเป็นรูปตัววี แล้วใช้อุปกรณ์กระทุ้งเข้าถึงเนื้อแก่นไม้เพื่อที่จะให้ได้ยางรักแล้วใช้กระบอกไม้ไผ่เล็กๆ เจาะเข้าไป จะทิ้งไว้ 7 วัน ถึงจะเก็บน้ำรักได้ ยางรักเริ่มแรกที่ได้จะมีสีขาวขุ่นเหมือนสีน้ำนม ไม่ได้เป็นสีดำอย่างที่เห็น แต่ที่เป็นสีดำเพราะว่าสภาพอากาศกับเวลาที่ผ่านไปทำให้น้ำยางรักเปลี่ยนสภาพจนเป็นสีดำ ต้นรักถึงแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ให้โทษได้เช่นกัน สำหรับคนที่แพ้รักจะมีอาการเป็นผื่นแพ้มีตุ่มพุพองเป็นหนองใส ทำให้ผิวหนังอักเสบปวดแสบปวดร้อน คัน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนยางรักโดยตรง เข้าใกล้ต้น โดนละอองเกสร หรือแม้แต่สูดดม ก็อาจเกิดอาการแพ้รักได้” ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย
ภายในนิทรรศการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ อาทิ “รัก” ของคนบนดอย ผู้คนที่อาศัยอยู่บนภูเขามีข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ประณีตสวยงามเหมือนกับคนเมือง หากแต่ละชิ้นนั้นมีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน ภาชนะส่วนใหญ่จึงทำมาจากการสานไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วยยางรัก ชิ้นสำคัญก็อย่าง กะเบื๊อ หรือขวดจักสานที่ทำด้วยน้ำยางรัก เพื่อเป็นการอุดรอยรั่วไหล ทำให้ภาชนะดังกล่าวใส่ของเหลวได้ ชาวกะเหรี่ยงนิยมนำมาใส่เหล้าต้ม แต่ก่อนชาวกะเหรี่ยงพกกะเบื๊อติดตัวกันแทบทุกคน แต่ในปัจจุบันหันมาใช้ขวดพลาสติกกันหมดแล้ว ชิ้นต่อมาคือ ก่องข้าวกันความชื้น วัตถุรูปทรงแปลกตาสานด้วยไม้ไผ่เคลือบด้วยยางรักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันความชื้นจากไอน้ำเข้าสู่เนื้อไม้ทำให้ลดการผุกร่อนและขึ้นรา ก่องข้าวจึงเป็นของคู่กายใช้ใส่ข้าวไปไร่นาได้ยาวนาน
โซนต่อมา “รัก” ของชาวสยาม สำหรับชาวสยามแล้ว ยางรักเป็นทั้งสินค้าและส่วย สมัยก่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีต้นรัก ยางรักจึงเป็นสินค้านำเข้า อย่างฝาตู้พระธรรมใบใหญ่ตั้งโชว์สง่าอยู่ตรงหน้า ลวดลายแลเลือนหายไปบางส่วน บ่งบอกว่าอายุของสิ่งนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว ฝาตู้พระธรรมลายรดน้ำ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างสมัยพระเพทราชา เป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดโพธาราม เป็นฝีมือการลงรักปิดทองเขียนลายร็อกโกโกแบบฝรั่ง ถัดมาเรื่องของ “รัก” กับกระจก ของชาวอุษาคเนย์ใช้ยางรักในเชิงประโยชน์ของการใช้สอยเป็นหลัก นอกจากยางรักจะช่วยเคลือบไม้ให้มีอายุคงทนยาวนานแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นกาวใช้เชื่อมต่อวัสดุต่างเนื้อได้ดี คนโบราณใช้เชื่อมวัสดุหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นกระดูกสัตว์ เปลือกไข่ รวมไปถึงกระจก โดยทางประเพณีแล้ว งานลงรักประดับกระจกเป็นงานที่สงวนไว้สำหรับสถาปัตยกรรมของวัดและวังเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น หางหงส์ เครื่องไม้ประดับหลังคาวัดขนาดใหญ่ ที่ตั้งโชว์ไว้ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
“รัก” ของคนญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งชาติที่มีวัฒนธรรมการใช้เครื่องยางรักมายาวนาน ชาวอาทิตย์อุทัยเรียกยางรักนี้ว่า อุรุชิ ภาชนะส่วนใหญ่ของชาวญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น ชาม ถ้วย ล้วนเป็นเครื่องเขินที่ทำมาจากไม้กลึง ก็ไม่ไกลตัวเรามากนัก อย่างที่ใกล้ตัวเลยก็มีพวก ถาดซูชิ ถาดใส่ปลาดิบ ถ้วยน้ำชา ซึ่งจะมีศาสตร์การทำอย่างละเอียดซับซ้อน อย่างการเคลือบยางรักก็มีหลายวิธีให้เลือกแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเนื้อไม้