
เวทีสาระ-ครั้งแรก!! ที่ "คนหูดี" ฟังดนตรีพร้อม "คนหูหนวก"
ดนตรีไม่ใช่แค่ได้ยิน! และคอนเสิร์ตที่จะบอกนี้ ก็ออกจะแปลกสักหน่อย เพราะเป็นการฟังดนตรีระหว่างคนหูดี ร่วมกับคนหูหนวก โดยวงดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค
และถือเป็นครั้งแรกในเมืองไทยกับ คอนเสิร์ต เลิฟ อิส เฮียร์ (Love is Hear)...ที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ โรงภาพยนตร์สกาลา
เป็นความตั้งใจของผู้ใหญ่ใจดีอย่างบริษัท นู้ด คอมมูนิเคชั่น และหนังสือแฮปเพนนิ่ง ร่วมกับพันธมิตรจับมือกันเพื่อมอบสิ่งดีๆ แก่น้องๆ ทั้ง 40 ชีวิต จากโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ พร้อมคนหูดีทั่วไป
ทีแรกนึกแปลกใจว่าทำไมคนเแน่นโรง จนล้นละทักลงไปนั่งกับพื้น
บัตรราคา 1,500, 1,000, 700 และพิเศษสำหรับบัตรราคา 999 ในโซนที่จะได้สัมผัสถึงความรู้สึกถึงความพิเศษสุด โดยเงินรายได้ รวมกับเงินจากผู้สนับสนุนจะนำเข้ามูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์
แต่ไฮไลท์ของวันนี้นับเป็นประสบการณ์ใหม่ โดยมี "ลูกโป่ง" สีขาวขุ่น รูปหัวใจ ที่ผูกติดทุกที่นั่ง ซึ่งความหนักแน่นของจังหวะดนตรี ส่งเป็นแรงสั่นสะเทือนมาที่ลูกโป่งให้รับรู้ได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ เพลงทุกเพลง ยังมี "ภาพ" บางเพลงมี "กลิ่น" แถมบางเพลงยังมี "รส"
เรียกว่าทุกเพลงมี "สัมผัส" ทั้งนั้น
เป็นการถ่ายทอดผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างครบถ้วน ด้วยมุมมองและฝีมือของศิลปิน...
ซึ่งศิลปินที่มาแสดงด้วยหัวใจ อย่าง ฟรายเดย์ สแตมป์ สครับบ์ อีทีซี โก้ มิสเตอร์แซกแมน และกลุ่มดนตรีเพอร์คัสชั่น เอ็กซ์โซติก เบรกคั่นแต่ละช่วงที่สนุกเฮฮา เพราะได้กลุ่มละครใบ้ เบบี้มิมี่ (Babymime) สร้างสีสัน ตบท้ายด้วย คิว วงฟลัวร์ ที่มาพร้อม "เสียงในความเงียบ" เพลงพิเศษสุด ที่ "จิก" ประภาส ชลศรานนท์ แต่งเนื้อให้โดยเฉพาะ!!
จะไม่เรียกว่าเป็นที่สุดแห่งความประทับใจ คงไม่ได้แล้ว
แถมกลับบ้านยังได้รับ CD เพลงพิเศษ "เสียงในความเงียบ" กลับบ้านอีกด้วย
"ครูปอย" ศศิชณา ดิษฐเจริญ อาจารย์โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ที่พาเด็กๆ ไปวันนั้น บอกว่า
"ที่ไปวันนั้น คุณครูขอขอบคุณก่อนเลย ทีมงานตั้งใจที่จะทำคอนเสิร์ตนี้ขึ้นมาเพื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ขอบคุณมากที่คิดสิ่งดีๆ อย่างนี้ขึ้นมา เด็กๆ วันนั้นมีความสุขมาก สังเกตได้จากสีหน้าท่าทาง เด็กได้ประสบการณ์แน่นอน เด็กได้รู้จักดนตรีเพิ่มขึ้น อย่างน้อยรู้จักจังหวะ เพราะสัมผัสได้จากลูกโป่ง ได้รู้ว่าคนในสังคมก็เห็นความสำคัญของเขา"
ด้าน เบญญาภา พิกุลทอง น้องชั้น ม.4 บอกความรู้สึกผ่านภาษามือว่า "สนุกมาก ดีใจมาก ที่คนหูดีได้เปิดโอกาสให้หนูไปดูคอนเสิร์ตในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ครั้งแรก และประสบการณ์ใหม่คิดว่าเพื่อนๆ ก็เป็นครั้งแรกเหมือนกัน แม้หนูจะได้ยินเสียงแค่ ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง...ได้ยินจังหวะบางจังหวะ แล้วแค่เห็นหน้าพี่ๆ ที่ร้องเพลง เล่นดนตรีก็สนุกแล้ว
ส่วนเนื้อร้องก็เข้าใจบ้าง เพราะบางเพลงทำมิวสิกวิดีโอเป็นภาษามือด้วย บางเพลงไม่มีภาษามือ แต่มีรูปภาพ ก็สนุกได้ ชอบพี่บอย ตรัย มากค่ะ พี่เขาน่ารักดี" น้องเบญญาภา ฝากถึงพี่ๆ ในวันนั้นว่า อยากให้จัดอย่างนี้อีก เพราะมีความสุขเหลือเกิน
ส่วน น้องนงค์นภา ปอศิริชัย ชั้น ม.6 บอกว่าตอนที่ยังไม่ได้ดูคอนเสิร์ต คิดว่าพี่ๆ จะจัดยังไงให้สนุก ให้รู้เรื่องได้ แต่พอได้ดูแล้วรู้สึกดีมาก
"ทีแรกนึกว่าจะนั่งดูเฉยๆ แต่ก็ลุกขึ้นเต้นกับเขาด้วย ได้ยินเสียงดนตรี ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง เพราะเอามือจับลูกโป่ง ทำให้สนุกและตื่นเต้นเป็นครั้งแรก ชอบพี่ๆ ที่ตีกลองบนถังน้ำมัน วงเอ็กโซติก ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจมาก ฝากขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่ให้โอกาสรับประสบการณ์ใหม่ หนูอยากถามโอกาสหน้า พี่ๆ จะจัดให้หนูอีกมั้ยคะ"
น้องขวัญกมล ขันคำ ชั้น ม.5 บ้าง เธอยืนยันด้วยรอยยิ้มกว้างว่า เป็นคอนเสิร์ตที่มีความสุขเหมือนกัน
"หนูว่าได้ยินเสียงนะ แต่ว่าไม่ได้เป็นแสียงเพลงที่ได้ยิน แต่หนูรับรู้ได้ว่ามีเสียงดนตรี จากลูกโป่งในมือ อีกอย่างหนูก็เข้าใจเนื้อเพลงบางส่วนเพราะมีรูปภาพ มีเนื้อเพลง พี่บอยก็ใช้ภาษามือประกอบด้วย รับรู้ได้ว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับอะไร ในวันนั้นหนูก็ลุกขึ้นเต้นด้วย สนุกมาก ถึงหนูจะเป็นคนหูหนวก แต่พี่ยังให้โอกาสหนู"
นับเป็นความสุขที่แบ่งปันกันได้...แค่เรามีใจให้กัน
“โชว์เงียบ ที่ไม่เหงา”
ด้วยความเชื่อที่ว่า “ความสุข” สามารถสร้างขึ้นมาได้ และแบ่งปันให้กันได้ โดยปราศจากเงื่อนไข
ดังนั้น รายการ “คิดข้ามเมฆ” จึงอาสาเป็นสะพานเชื่อมโลกเงียบ ด้วยการจัดการแข่งขัน “โชว์เงียบ ที่ไม่เหงา” เพื่อส่งความสุขผ่านการแสดงให้แก่น้องๆ หูหนวก โดยน้องนักสร้างสรรค์ที่จะมาแข่งขันในครั้งนี้ เป็นตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยทั้งสองทีมจะต้องออกแบบรูปแบบการแสดงที่ต้องสื่อให้ทั้งคนหูดี และหูหนวกต่างรับรู้ว่า
“ไม่ว่าเราจะต่างที่การสื่อสาร (การได้ยิน)...แต่เราก็เติมเต็มความสุขให้กันได้ อย่างไร้อุปสรรค”
โดยผู้ชนะจะได้ไปโชว์เต็มรูปแบบร่วมกับศิลปิน ในงานคอนเสิร์ต Love is Hear
งานนี้น้องๆ ต่างเตรียมความพร้อมมาอย่างเต็มที่ ทั้งอุปกรณ์การแสดง เสื้อผ้าหน้าผม และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “ใจ” เพราะทั้งสองทีมต่างตั้งใจมาสร้างความสุขให้น้องๆ หูหนวกที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร มากกว่ามาเพื่อประชันขันแข่ง
โจทย์กำหนดให้แสดงภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที โดยทีมจาก มศว ใช้ชื่อการแสดงว่า “อมยิ้ม”
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่แม่มดคนหนึ่งอยากจะเอาเด็กๆ มาเป็นทาส โดยการเสกของทุกอย่างให้กลายเป็นอมยิ้มเพื่อหลอกล่อเด็กๆ มาติดกับดัก เผอิญว่ามีสองพี่น้องหลงเข้ามา โดยคนน้องเป็นเด็กหูหนวก ส่วนพี่ชายไม่ยอมรับในความผิดปกติของน้องสาว พอพวกเขารู้ว่าตัวเองถูกหลอกจึงจับมือกันเพื่อต่อสู้กับแม่มดเพื่อความอยู่รอด
ที่สุดแม่มดเจ้าเล่ห์ก็พลาดท่าตกเข้าไปในหม้อไฟกลายเป็น "อมยิ้ม" อันใหม่ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พี่ชายยอมรับตัวตนของน้องสาวที่แม้ว่าเธอจะหูหนวก แต่ก็มีความสามารถไม่แพ้คนปกติ การแสดงชุดนี้นอกจากจะสอนในเรื่องความสามัคคีแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโลกสองโลกระหว่างคนปกติกับคนหูหนวกให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ด้านทีมนักศึกษาจากธรรมศาสตร์ ซึ่งชนะการแข่งขันไปอย่างฉิวเฉียดนั้น ใช้ห้องครัวสร้างเรื่องราว เนื่องจากในห้องครัวจะมีสัมผัสทุกอย่างครบ โดยใช้ชื่อการแสดงว่า “อร่อยเหอะ”
เมื่อคนหูดีจะต้องมาแข่งทำอาหารพร้อมกับคนหูหนวก จึงเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารแล้วทะเลาะกัน ที่สุดก็ลงท้ายด้วยความล้มเหลว ฉะนั้นพวกเขาจึงกลับไปแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา และยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นข้อคิดง่ายๆ เรื่องความสามัคคี ที่สังคมทุกวันนี้เริ่มขาดหายไป
วศิน แก้วฟ้านภาดล ตัวแทนทีม มธ. กล่าวว่า “จากการที่เราได้คุยกับน้องๆ พบว่าน้องสนใจเรื่องการทำอาหาร เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และทำให้พวกเขารู้สึกสนุก ครัวจึงเป็นสถานที่สำคัญของโชว์ครั้งนี้ โดยใช้อุปกรณ์ในครัวมาสร้างเป็นเรื่องราวให้เกิดความสนุกสนาน แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิดในเรื่องของความสามัคคี”
มาฟังความรู้สึกของน้องๆ โรงเรียนเศรษฐเสถียรบ้าง เริ่มจาก สุรีรัตน์ เกื้อกมลสุข นักเรียนชั้น ม.ปลาย กล่าวหลังจากชมโชว์ครั้งนี้ว่า
“ประทับใจในการแสดงของพี่ๆ ทั้งสองทีม แต่ชอบการแสดงของทีมธรรมศาสตร์ตรงที่สอนให้รู้จักการมีน้ำใจ ทั้งยังสอนในเรื่องการทำงานร่วมกันที่ต้องอาศัยความสามัคคี โดยอาศัยฉากการทำอาหารเป็นสื่อ วันนี้รู้สึกดีใจที่พี่ๆ มาแสดงให้พวกเราดู ชอบมาก ดูสนุก และขอขอบคุณที่ให้โอกาสพวกเราค่ะ”
เช่นเดียวกับ น้อง ชนิกานต์ แสงระวี นักเรียนชั้น ม.5 ที่ชื่นชอบการแสดงของพี่ๆ จากธรรมศาสตร์ เพราะสนุก เข้าใจง่าย ส่วน ทิพย์วดี วงษ์ชีสี หรือ "น้องเกม" นักเรียนชั้น ม.5 บอกว่า “ชอบทีมแรกเพราะดูแล้วเข้าใจง่าย สนุกดี ชอบการเคลื่อนไหวของตัวละคร รู้สึกเหมือนพวกเขาลอยได้ อุปกรณ์ประกอบฉากก็ดีดูสมจริง แต่สิ่งสำคัญคือ กำลังใจที่พวกเราได้จากพี่ๆ”
แม้ว่าการแสดงในวันนี้จะจบลง แต่เชื่อว่าความรักความประทับใจที่พี่ๆ มีต่อน้องๆ ผู้พิการทางการได้ยินจะยังคงอยู่ตลอดไป
นันทพร ไวศยะสุวรรณ์